14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

EventsThailand & World

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย พลังนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นสู้กับรัฐเผด็จการทหารที่บริหารประเทศมานานเกือบ 15 ปี เริ่มจากสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ สื่อมวลชนถูกควบคุมปิดหูปิดตาประชาชน การทุจริตในการบริหารประเทศ นักศึกษาประชาชนนำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงเดินขบวนประท้วงขับไล่ 3 ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร

ข้อเรียกร้องของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยประกอบด้วยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ยุติอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร กระแสความไม่พอใจรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอมมีอย่างยาวนานก่อนหน้านี้แล้วและเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 6-9 ตุลาคม 2516 นักศึกษา เริ่มแจกใบปริว การจับกุมผู้ชุมนุม นำไปสู่การประท้วงใหญ่ในวันที่ 9 ตุลาคม 2516 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชุมนุมได้เดินทางเข้าร่วมเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกระทั่งมีผู้ชุมนุมมากกว่า 5 แสนคน ยาวจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนถึงถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า

วันที่ 13 ตุลาคม 2516 รัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจรประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตามวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นโดยกำลังทหารใช้กำลังปราบปรามนักศึกษาด้วยอาวุธสงครามที่ซื้อมาจากภาษีของประชาชน ประชาชนจำนวนมากกระโดดคลองหนีเข้าไปหลบในพระราชวังสวนจิตรลดา ฝ่ายเผด็จการทหารได้ใช้รถถังและเฮลิคอปเตอร์เข้าร่วมปฏิบัติการ รายงานไม่ยืนยันจากผู้ชุมนุมมองเห็นการยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ใส่ผู้ชุมนุม

นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นแผนการของฝ่ายเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจรที่แกล้งยอมรับข้อเสนอก่อนส่งกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ผลจากการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 77 คน ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,000 คน อาคารหลายหลังบริเวณถนนราชดำเนินถูกวางเพลิง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร และสถานที่ราชการอื่น ๆ ซึ่งในสภาวะการของการชุมนุมในขณะนั้นสับสนอลหม่านยากต่อการระบุตัวผู้เข้าไปวางเพลิงว่าเป็นผู้ชุมนุม ผู้สร้างสถานการณ์หรือฝ่ายอื่น ๆ

วันที่ 15 ตุลาคม 2516 หลังการปราบปรามผู้ชุมนุมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทางฝ่ายเผด็จการ 3 ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ยอมเดินทางออกนอกประเทศไทย รัฐบาลชั่วคราวที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาบริหารประเทศต่อจาก 3 ทรราช คือ นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปี 2517 ก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นักวิเคราะห์การยอมถอยเดินทางออกนอกประเทศของ 3 ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการปรับกลยุทธของฝ่ายเผด็จการทหาร เนื่องจากสุดท้ายแล้วทั้งหมดก็เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยและกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของการสร้างข้ออ้างในการปราบปรามศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งส่งผลให้มีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม : 6 ตุลาคม บทเรียนประวัติศาสตร์ด้านมืดของประเทศไทย

ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งซึ่งเป็นสัจนิรันดร์ เวลานั้นไม่เคยหยุดเดิน อำนาจ ลาภยศ เงินทอง คำสรรเสริญ ล้วนไม่เที่ยงแท้ดังคำกล่าวที่ว่า “นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” วันที่ 16 มิถุนายน 2547 จอมพลถนอม กิตติขจรเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก รวมอายุ 92 ปี ปิดฉากจอมพลคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จอมพลถนอม กิตติขจรถูกจดจำในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ที่มาของข้อมูล

The popular uprising of 14 October 1973