ยุทธนาวีที่ช่องแคบทสึชิมะ (Battle of Tsushima) วีรกรรมนายพลเรือโตโก เฮฮะจิโร

Uncategorized

27 พฤษภาคม ค.ศ. 1905 นายพลเรือโตโก เฮฮะจิโรออกคำสั่งให้เรือประจัญบานมิคาสะแปรธงสัญญาณ Z นำกองเรือญี่ปุ่นเข้าปะทะกับกองเรือจักรวรรดิรัสเซียบริเวณช่องแคบทสึชิมะ ยุทธนาวีครั้งสำคัญในสงครามรัสเซียกับญี่ปุ่นในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 – กันยายน ค.ศ. 1905 กองเรือ จักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

ความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับจักรวรรดิญี่ปุ่น

ภายหลังการเปิดประเทศจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลฝั่งทวีปเอเชีย จัดตั้งกองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เกรียงไกรได้สำเร็จ ในขณะเดียวกันจักรวรรดิรัสเซียก็เริ่มขยายอิทธิพลมาทางทวีปเอเชียบริเวณประเทศจีนตอนบน พอร์ตอาเธอร์หรือปัจจุบันคาบสมุทรเหลียวตงและคาปสมุทรเกาหลี จักรวรรดิญี่ปุ่นโจมตีพอร์ตอาเธอร์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 เรียกการรบครั้งนั้นว่ายุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์ กองเรือจักรวรรดิรัสเซียถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จักรวรรดิญี่ปุ่นยังได้ทำการผนวกดินแดนแมนจูเรียและคาปสมุทรเกาหลีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น

กองเรือบอลติกของจักรวรรดิรัสเซีย

จักรวรรดิรัสเซียพ่ายแพ้ยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์ในปี ค.ศ. 1904 สร้างความอับอายให้กับจักรวรรดิรัสเซียเป็นอย่างมาก จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ต้องการล้างแค้นเอาคืนและพิชิตจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งในขณะนั้นชาติยุโรปมองว่าชาวเอเชียอ่อนแอล้าหลังด้านเทคโนโลยีวิทยาการ พระองค์ออกคำสั่งให้พลเรือตรี ซีโนวี โรซเดสท์เวนสกีเคลื่อนกองเรือบอลติกโดยมีเรือประจัญบานเปโตรปาวลอฟสก์เป็นเรือธง เรือประจัญบานอีกประมาณ 7 ลำ และเรือรบประเภทอื่น ๆ เดินทางมุ่งหน้าสู่พื้นที่ความขัดแย้งกับจักรวรรดิญี่ปุ่น

การเดินทางอ้อมโลกมาเพื่อโจมตีญี่ปุ่นใช้เวลาเดินทางนานกว่า 6 เดือนทำให้กองเรือจักรวรรดิรัสเซียอ่อนแอเหนื่อยล้า แผนการแรก คือ นำกองเรือจักรวรรดิรัสเซียเข้าเทียบท่าเรือวลาดีวอสตอคเพื่อเตรียมพร้อมแต่เส้นทางที่เร็วที่สุดจำเป็นต้องผ่านช่องแคบทสึชิมะซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรเกาหลีกับญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกันหน่วยข่าวกรองของจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ได้ทราบความเคลื่อนไหวนี้มาโดยตลอดทำให้นายพลเรือโตโก เฮฮะจิโรมีเวลาเตรียมการตั้งรับและค้นหากองเรือจักรวรรดิรัสเซียเพื่อเข้าต่อสู้บริเวณช่องแคบทสึชิมะ กองเรือจักรรวรรดิญี่ปุ่นระดมกำลังกองเรือประจัญบาน 4 ลำ นำโดยเรือประจัญบานมิคาสะพร้อมเรือรบประเภทอื่น ๆ แม้จะมีจำนวนเรือประจัญบานน้อยกว่าจักรวรรดิรัสเซียแต่เรือของจักรวรรดิญี่ปุ่นมีความเร็วมากกว่า

เรือประจัญบาน เปโตรปาวลอฟสก์ จักรวรรดิรัสเซีย

ยุทธนาวีที่ช่องแคบทสึชิมะ

กองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียพยายามอาศัยความมืดในเวลากลางคืนและหมอกลงหนาเพื่อเคลื่อนขบวนผ่านช่องแคบทสึชิมะ อย่างไรก็ตามกองเรือจักรวรรดิรัสเซียก็ถูกตรวจพบในตอนเช้าของวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1905 หลังได้รับการยืนยันตำแหน่งของฆ่าศึกนายพลเรือโตโก เฮฮะจิโรออกคำสั่งให้เรือประจัญบานมิคาสะแปรธงสัญญาณ Z เพื่อนำกองเรือเข้าปะทะเพื่อตัดสินชี้ขาด

“ชะตากรรมของจักรวรรดิญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับการต่อสู้ในครั้งนี้และทุกคนจะทำมันให้ดีที่สุด …”

กองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นมีความได้เปรียบด้านความเร็วทำให้สามารถนำกองเรือวิ่งตัดหน้าเป็นตัว T ปืนทุกกระบอกด้านข้างของเรือทุกลำสามารถยิงใส่กองเรือจักรวรรดิรัสเซีย ในขณะที่กองเรือจักรวรรดิรัสเซียสามารถยิงได้เฉพาะปืนที่อยู่ด้านหน้าเรือเท่านั้น การเลี้ยวตัดหน้ากองเรือในครั้งนี้ถูกเรียกว่า “Togo Turn” ตามชื่อนายพลเรือโตโก เฮฮะจิโร ซึ่งต้องใช้ความเด็ดขาดในการตัดสินใจและความมั่นใจในความเร็วของกองเรือ หากผิดพลาดอาจนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิญี่ปุ่น

เรือประจัญบาน มิคาสะ จักรวรรดิญี่ปุ่น
แผนที่ยุทธนาวีที่ช่องแคบทสึชิมะ

ผลการสู้รบบริเวณช่องแคบทสึชิมะกองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ กองเรือจักรวรรดิรัสเซียถูกจมไปกว่า 21 ลำ ทหารเรือรัสเซียเสียชีวิตมากกว่า 4,000 นาย ถูกจับเป็นเชลยกว่า 6,000 นาย ในขณะที่กองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นเสียเรือตอร์ปิโดไป 3 ลำ ทหารเสียชีวิต 117 นาย ชัยชนะของจักรวรรดิญี่ปุ่นสร้างความตกตะลึกไปทั่วโลกในยุคของการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกจากยุโรป นายพลเรือโตโก เฮฮะจิโรและทหารเรือทุกนายได้รับการยกย่องในวีระกรรมที่กล้าหาญ ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้สร้างอนุสาวรีย์นายพลเรือโตโก เฮฮะจิโรและเรือประจัญบานมิคาสะไว้บริเวณสวนสาธารณะมิคาสะบริเวณเมืองโยโกสุกะ ปากอ่าวโตเกียว ทิศใต้ของกรุงโตเกียว

เรียบเรียงโดย THE HISTORY NOW