อนุสาวรีย์ทหารไทยในสงครามเกาหลี (Thai Soldier Monument)

thai-soldier-monument-korean-war
Wars

ในสงครามเกาหลีระหว่างเดือน มิถุนายน 1950 – กรกฎาคม 1953 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งอาหารและกำลังรบทางทหารไปช่วยประเทศเกาหลีใต้โดยการนำของกองทัพสหประชาชาตินำโดยกองทัพสหรัฐอเมริการวมไปถึงชาติพันธมิตรอีก 15 ประเทศ เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในเกาหลีใต้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นคืนเอกราชให้ประเทศเกาหลี แต่ประเทศเกาหลีถูกแบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียติและเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยใช้เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่งเขตชายแดน สงครามเกาหลีเกิดขึ้นจากกองทัพประชาชนเกาหลีเหนือบุกโจมตีสายฟ้าแลบใส่กองทัพเกาหลีใต้กองทัพเกาหลีใต้ในขณะนั้นไม่มีขีดความสามารถในการทำสงครามและได้ร้องขอการสนับสนุนจากกองทัพสหประชาติ

ประเทศไทยได้รับคำร้องขอกำลังรบจากสหประชาชาติและได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ประกาศส่งกำลังทหารชุดแรกไปช่วยประเทศเกาหลีใต้ในวันที่ 22 กันยายน 1950 และตลอดระยะเวลาในสงครามเกาหลีทหารไทยจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ถูกส่งเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีกว่า 11,776 นายก เป็นนายทหาร 750 นาย นายสิบ 5,334 นาย พลทหาร 5,702 นาย

สมรภูมิการรบเนินเขาพอร์กช็อป

เนินเขาพอร์กช๊อปหรือเนิน 255 มีลักษณะเป็นภูเขาสูงประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโปซอน จังหวดคยองกี ตอนเหนือของประเทศเกาหลีใต้ กองพันทหารราบที่ 21 นำโดยพันโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับมอบภารกิจจากกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพสหรัฐอเมริกาให้เข้าประจำตำแหน่งป้องกันเนินเขาพอร์กช๊อป กองทัพทหารอาสาจีนคอมมิวนิสต์ใช้กองทัพทหารราบ 39 เริ่มเข้าโจมตีบริเวณเนินเขาพอร์กช็อประหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 1952

การรบที่หนักหน่วงและสร้างชื่อเสียงให้กับทหารไทยสามารถป้องกันการโจมตีจากกองกำลังผสมจีนเกาหลีเหนือได้ถึง 5 ครั้ง โดยได้รับการยิงปืนใหญ่สนับสนุนจากกองทัพสหรัฐอเมริกา กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 21 ได้รับสมยานามว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย” ต่อมาหลังจากเดินทางกลับประเทศไทยได้ 25 ปีพันโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เติบโตในตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก แม่ทัพภาคที่ 3 และได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15 ในเวลาต่อมา

ต่อมาทหารไทยได้รับการถอนกำลังออกเพื่อสับเปลี่ยนกับทหารกองทัพสหรัฐ มีบันทึกว่ากองพันทหารราบที่ 7 กองทัพสหรัฐที่เริ่มเข้ามาสับเปลี่ยนกำลังกับกองพันทหารราบที่ 21 ของไทยพบข้อความในบังเกอร์เขียนเป็นภาษาไทยว่า “ดูแลเนินพอร์ช็อปของเราให้ดี” หลังจากทหารไทยถอนกำลังไปแล้วเกิดการสู้รบในบริเวณเนินเขาพอร์กช็อปอีกครั้งเนื่องจากกองทัพทหารอาสาจีนมองว่าเนินพอร์ช็อปเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฏาคม 1953 ช่วงท้ายของการรบในเดือนกรกฏาคม 1953 กองทัพทหารอาสาจีนสามารถตีโต้จนยึดคืนเนินเขาพอร์กช๊อปได้สำเร็จทำให้ ตำแหน่งที่ตั้งของเนินเขาพอร์กช๊อปปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประเทศเกาหลีเหนือ (พิกัดเนินเขาพอร์กช๊อปบน Google Map 38.241707, 127.018383)

หากนับรวมการสู้รบในบริเวณเนินเขาพอร์กช็อปในปี 1952-1953 มีทหารในกองทัพสหประชาชาติเสียชีวิตและสูญหายกว่า 347 นาย บาดเจ็บ 1,036 นาย ในจำนวนนี้ทหารไทยเสียชีวิต 23 นาย บาดเจ็บ 76 นาย สมรภูมิเนินเขาพอร์กช็อปนอกจากมีทหารไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมรบยังมีทหารเกาหลีใต้ โคลัมเบีย เอธิโอเปีย สับเปลี่ยนกำลังเข้าร่วมรบในสมรภูมินี้อีกด้วย

อนุสาวรีย์ทหารไทยในสงครามเกาหลี

ปัจจุบันในประเทศเกาหลีใต้มีการสร้างอนุสาวรีย์ทหารไทยที่ร่วมรบในสงครามเกาหลี (Thai Soldier Monument) บริเวณเมืองโปชอน ตั้งอยู่เขตด้านเหนือของจังหวัดคยองกี ประเทศเกาหลีใต้ ประมาณการตำแหน่งของเนินเขาพอร์กช๊อปน่าจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือลากเป็นเป็นเส้นตรงระยะทาง 40-50 กิโลเมตร ( พิกัดอนุสาวรีย์ทหารไทยที่ร่วมรบในสงครามเกาหลีบน Google Map 38.071176, 127.274267)

สถานทูตไทยในเกาหลีใต้จะจัดพิธีรำลึกถึงทหารไทยในทุก ๆ ปี โดยในปีที่ผ่านมาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2018 นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เป็นประธานในพิธีรำลึกวีรกรรมของทหารไทยในสมรภูมิสงครามเกาหลี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมและความเสียสละของทหารไทยในช่วงสงครามเกาหลี เพื่อสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

แม้การร่วมรบในสงครามเกาหลีของทหารไทยจะผ่านมานานกว่า 70 ปี แต่สงครามเกาหลียังถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์การทหารของไทย การประกาศตัวเป็นประเทศโลกเสรีหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากความทรงจำในสงคราม ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ได้เปิดวีซ่าให้คนไทยทุกคนสามารถเดินทางเข้าไปในประเทศเกาหลีใต้นานถึง 90 วัน เพื่อตอบแทนความมีมิตรภาพและการช่วยเหลือในยามสงครามของทหารไทย ส่วนทหารไทยหลายนายที่เคยร่วมรบในสงครามเกาหลีปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ไม่กี่นายสามารถพบเห็นในงานรำลึกวันทหารผ่านศึกที่จัดขึ้นทุกๆ ปี

ที่มาของข้อมูล

ถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล Royal Thai Embassy, Seoul
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ / อาคารประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ทหาร
Battle of Pork Chop Hill
Latitude and longitude of Battle of Pork Chop Hill