ยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) การต่อสู้ระหว่างกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

Wars

ยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) การต่อสู้ระหว่างกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ความพยายามของญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และจุดเปลี่ยนสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุทธนาวีที่มีการใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเข้าต่อสู้กันไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์สงคราม กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในขณะนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจและกำลังรบทางการทหารอันดับต้น ๆ ของโลก แม้จะได้รับชัยชนะจากการโจมตีแบบสายฟ้าเเลปในระยะแรกแต่ก็พบกับความพ่ายแพ้ให้กับกำลังการผลิตทรัพยากรและอุตสหกรรมสงครามขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

ประเด็นความขัดแย้ง

ความขัดแย้งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นไปในแนวทางที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามมาโดยตลอด จักรวรรดิญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งด้านเศรษฐกิจและกำลังรบทางการทหาร จักรวรรดิญี่ปุ่นในขณะนั้นมีความต้องการทรัพยกรน้ำมัน ดีบุก เหล็ก เพื่อหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ การก้าวกระโดดของญี่ปุ่นถูกมองด้วยความหวาดระแวงจากสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จักรวรรดิญี่ปุ่นมีทางเลือกสองทางในการแย่งชิงทรัพยากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ การรีบเปิดฉากโจมตีทำสงครามสายฟ้าแลบเพื่อช่วงชิงโอกาสคุมอำนาจทางการทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรืออดทนต่อการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรและพยายามเข้าถึงด้วยวิธีการค้าและการฑูต อย่างไรก็ตามด้วยการเติบโตทางด้านกองกำลังทางทหารที่มีอิทธิพลในการเมืองญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นเลือกวิธีการแรก เปิดฉากตัวโจมตีทางการทหารแบบสายฟ้าแลบใส่กองทัพสหรัฐอเมริกาบริเวณอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 และผลักดันในสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่น

ปฏิบัติการโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์โดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นแม้จะได้เตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดีถึงขนาดสร้างแบบจำลองอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์จากข้อมูลที่สายลับญี่ปุ่นเพื่ออธิบายแผนการโจตีโดยละเอียดแต่เมื่อถึงวันโจมตีจริงตามแผนการทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามแผนการ เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีได้ออกทะเลไปเสียก่อนทำให้บริเวณอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์เหลือเพียงเรือประจัญบาน นักบินกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจึงพุ่งเป้าทิ้งระเบิดใส่กองเรือประจัญบานและเมินเฉยที่จะทำลายคลังน้ำมันจำนวนมหาศาล กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกายังไม่ถูกทำลายและเป็นที่มาของยุทธนาวีมิดเวย์

เกาะมิดเวย์ (Midway Atoll) ที่มาของภาพ U.S. Navy

กำลังรบฝ่ายสหรัฐอเมริกา

กำลังรบฝ่ายสหรัฐอเมริกาใช้เรือบรรทุกเครื่องบินหลัก 3 ลำ และใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดบางส่วนบินขึ้นจากเกาะมิดเวย์ราวกลับว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 นอกจากนี้ยังมีเรือลาดตระเวนหนักประมาณ 7 ลำ เรือพิฆาตอีกประมาณ 15 ลำ เรือดำน้ำอีกประมาณ 16 ลำ รวมไปถึงเรือประเภทอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ (USS Yorktown CV-5) ต่อเรือเสร็จในปี 1934 เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปี 1936 เรือมีระวางขับดันน้ำ 25,500 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 234 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 32.5 นอตหรือประมาณ 60.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 90 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 2,217 นาย

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Yorktown (CV-5) เตรียมพร้อมรบในเช้าตรู่ วันที่ 4 มิถุนายน 1942 ที่มาของภาพ Official U.S. Navy photograph

เรือบรรทุกเครื่องบินฮอเน็ท (USS Hornet CV-8) ต่อเรือเสร็จในปี 1934 เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปี 1936 ลักษณะภายนอกมีความคล้ายกับเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์จนว่ากันว่านักบินรบญี่ปุ่นไม่สามารถแยกออกและระบุชื่อเรือได้จนมีผลต่อการโจมตีและผลของยุทธนาวีในครั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินฮอเน็ทมีระวางขับดันน้ำ 25,500 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 251 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 32.5 นอตหรือประมาณ 60.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 72 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 2,217 นาย

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Hornet (CV-8) ขณะถูกโจมตีจนอับปางลงในยุทธนาวีเกาะซานตาครูส วันที่ 27 ตุลาคม 1942 ที่มาของภาพ U.S. Navy

เรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพรส์ USS Enterprise (CV-6) ต่อเรือเสร็จในปี 1936 เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปี 1938 เรือมีระวางขับดันน้ำ 32,060 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 251 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 32.5 นอตหรือประมาณ 60.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 90 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 2,217 นาย

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Enterprise (CV-6) ในปี 1939 ที่มาของภาพ National Archives and Records Administration, Washington, D.C

กำลังรบฝ่ายกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น

กำลังรบฝ่ายกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้กองเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน 4 ลำ เรือประจัญบานขนาดใหญ่จำนวน 7 ลำ เรือพิฆาตจำนวน 12 ลำ เครื่องบินน้ำจำนวน 16 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 4 ลำพร้อมเรือประเภทอื่น ๆ มากกว่าอีกมากกว่า 200 ลำ พร้อมกองทหารกว่า 5,000 นาย ในจำนวนนี้นักข่าวและศิลปินวาดภาพสงครามรวมอยู่ด้วย

เรือบรรทุกเครื่องบินอะกากิ (Akagi) เป็นเรือธงในการโจมตีครั้งนี้ชื่อของเรือตั้งตามภูเขา Akagi ในประเทศญี่ปุ่น ต่อเรือเสร็จในปี 1925 เข้าประจำการในกองทัพเรือญี่ปุ่นปี 1927 เรือมีระวางขับดันน้ำ 42,000 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 260 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 31.5 นอตหรือประมาณ 58.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 66 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 1,630 นาย เรือบรรทุกเครื่องบินอะกากิ (Akagi) เป็นหนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินที่เข้าการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

เรือบรรทุกเครื่องบิน Akagi ที่มาของภาพ U.S. Navy National Museum of Naval Aviation

เรือบรรทุกเครื่องบินฮิริว (Hiryu) เป็นเรือฝาแฝดของเรือบรรทุกเครื่องบินโซริว (Soryu) ชื่อของเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวแปลว่ามังกรบินในภาษาญี่ปุ่น ต่อเรือเสร็จในปี 1937 เข้าประจำการในกองทัพเรือญี่ปุ่นปี 1939 เรือมีระวางขับดันน้ำ 20,570 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 227 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 34 นอตหรือประมาณ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 73 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 1,100 นาย

เรือบรรทุกเครื่องบินฮิริว (Hiryū) ในปี 1939 ที่มาของภาพ U.S. Naval Historical Center Photograph Donation of Kazutoshi Hando

เรือบรรทุกเครื่องบินโซริว (Soryu) ชื่อของเรือบรรทุกเครื่องบินโซรายุแปลว่ามังกรสีน้ำเงินในภาษาญี่ปุ่น ต่อเรือเสร็จในปี 1935 เข้าประจำการในกองทัพเรือญี่ปุ่นปี 1937 เรือมีระวางขับดันน้ำ 19,100 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 227 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 34 นอตหรือประมาณ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 70 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 1,100 นาย ลักษณะภายนอกของเรือรวมไปถึงขนาดมีความใกล้เคียงกับเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริว (Hiryu)

เรือบรรทุกเครื่องบินโซริว (Soryu) ที่มาของภาพ Kure Maritime Museum

เรือบรรทุกเครื่องบินคากะ (Kaga) ชื่อของเรือบรรทุกเครื่องบินคากะตั้งตามชื่อจังหวัดคากะในประเทศญี่ปุ่น ต่อเรือเสร็จในปี 1922-1928 เข้าประจำการในกองทัพเรือญี่ปุ่นปี 1928 เรือมีระวางขับดันน้ำ 38,200 ตัน ความยาวตลอดลำเรือ 247 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 28 นอตหรือประมาณ 52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกเครื่องบินแบบต่าง ๆ รวมประมาณ 90 ลำ กำลังพลประจำเรือประมาณ 1,708 นาย เรือบรรทุกเครื่องบินคากะ (Kaga) เป็นหนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินที่เข้าการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

เรือบรรทุกเครื่องบินคากะ (Kaga) ที่มาของภาพ Mr Fukami – Photo is taken from the original exhibit at the Yamato Museum

ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะมิดเวย์

ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะมิดเวย์มีความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์เป็นจุดหน้าด่านของอาณาเขตยึดครองกองทัพญี่ปุ่นภาคพื้นแปซิฟิก เกาะมิดเวย์เป็นเกาะปะการังตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะฮาวายที่ตั้งของฐานทัพเรือสหรัฐบริเวณอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการยึดเกาะมิดเวย์เพื่อใช้เป็นบานในการทำลายกองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2

ตำแหน่งที่ตั้งเกาะมิดเวย์และอาณาเขตยึดครองกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

เริ่มต้นการต่อสู้ที่เกาะมิดเวย์

ยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) เริ่มต้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1942 ด้วยสัญญาณความพ่ายแพ้ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถดักจับรหัสสัญญาณสื่อสารของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นและแปลความหมายได้สำเร็จ ทำให้กองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถรู้รายละเอียดการโจมตีคล่าว ๆ ของแผนการโจมตีเกาะมิดเวย์ กองทัพสหรัฐมีเวลาเตรียมความพร้อมตั้งรับวางกำลังรบบนเกาะมิดเวย์เสริมเครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิดเพิ่มบนเกาะมิดเวย์กว่า 100 ลำ รวมไปถึงการจัดวางตำแหน่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินได้อย่างถูกต้องเพื่อซุ่มโจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น

กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นนำโดยนายพลอิโซโรกุ ยามาโมโตะผู้บัญชาการกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นพยายามล่อหลอกด้วยการส่งทหารไปโจมตีหมู่เกาะอะลูเซียน (Aleutian Islands) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เส้นทางมุ่งตรงไปยังรัฐอลาสก้าของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเบนความสนใจกองทัพสหรัฐอเมริกา

ตามแผนการเดิมนั้นกองทัพเรือญี่ปุ่นจะเริ่มต้นด้วยการส่งเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินอะกากิ คากะ ฮิริว และโซริว ภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือโทจูอิชิ นากูโมะเข้าโจมตีหมู่เกาะมิดเวย์จากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะมิดเวย์เพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานและการตั้งรับของกองทัพสหรัฐอเมริกา จากนั้นตามมาด้วยการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นประมาณ 5,000 คนภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือโทโนบุทาเกะ คอนโดะจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะมิดเวย์

โดยมีกองเรือประจัญบานที่มีนายพลอิโซโรกุ ยามาโมโตะ ประจำตำแหน่งทางด้านทิศตะวันตกของเกาะมิดเวย์ หากเป็นไปตามแผนการหลังการยึดเกาะมิดเวย์ กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาที่ถูกล่อให้ออกมาตีโต้ตอบยึดเกาะมิดเวย์คืนจะถูกทำลายโดยการโจมตีผสมของเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน วันที่ 3 มิถุนายน 1942 เวลาประมาณ 09.25 นาที เครื่องบินตรวจการของกองทัพสหรัฐตรวจพบกองเรือยกพลขึ้นบกของพลเรือโทโนบุทาเกะ คอนโดะ และส่งฝูงบินทิ้งระเบิดจากสนามบินเกาะมิดเวย์เข้าทำลายสะกัดกั้นแต่ก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับกองเรือยกพลขึ้นบกของพลเรือโทโนบุทาเกะ คอนโดะมากนักเนื่องจากระเบิดส่วนใหญ่ทิ้งผิดเป้าหมาย

วันที่ 4 มิถุนายน 1942 เวลาประมาณ 06.00 น. พลเรือโทจูอิชิ นากูโมะเปิดฉากโจมตีด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ประมาณ 108 ลำขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำ เมื่อเครื่องบินญี่ปุ่นบินถึงเกาะมิดเวย์ต้องพบกับการตั้งรับอย่างเหนียวแน่นจนทำให้ไม่สามารถทิ้งระเบิดทำลายเป้าหมายสำคัญได้และจำเป็นต้องใช้การโจมตีอีกระลอก

เวลาประมาณ 07.00 น. ฝูงบินกองทัพสหรัฐบินเข้าโจมตีโต้ตอบกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ในขณะนั้นพลเรือโทจูอิชิ นากูโมะยังไม่ทราบถึงกับดักที่สหรัฐอเมริกาวางเอาไว้แล้ว เชสเตอร์ ดับเบิลยู. นิมิตซ์ ผู้บัญชาการรบกองทัพสหรัฐในยุทธนาวีมิดเวย์ได้วางตำแหน่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำได้แก่ เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์นำหน้าขบวน และมีเรือบรรทุกเครื่องบินฮอเน็ทและเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพรส์ วิ่งตีคู่ตามมาห่าง ๆ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมิดเวย์ ด้วยประสิทธิภาพของเครื่องบินลาดตระเวนที่มีจำนวนน้อยกว่าทำให้กองทัพญี่ปุ่นไม่สามารถค้นพบตำแหน่งของเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐทั้ง 3 ลำ

เวลาประมาณ 07.28 น. นักบินญี่ปุ่นบนเครื่องบินลาดตระเวรรายงานการพบกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐสร้างความตกตะลึงให้กับพลเรือโทจูอิชิ นากูโมะเป็นอย่างมากท่ามกลางความโกลาหลของการสับเปลี่ยนระเบิดและน้ำมันเชื้อเพลิงบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น ฝูงบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินฮอเน็ทและเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพรส์ก็เดินทางมาถึงจากทิศตะวันออกของกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นและเข้าโจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น

เครื่องบิน Douglas TBD Devastator จากเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพรส์กำลังเตรียมบินขึ้นไปโจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น ที่มาของภาพ U.S. Navy

ในขณะนั้นญี่ปุ่นมีเครื่องบินขับไล่ในตำนานอย่าง Mitsubishi A6M Zero ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีความรวดเร็วและประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาทำให้ฝูงบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินฮอเน็ทและเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพรส์ ไม่สามารถทำอันตรายกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นได้ ในตอนนี้พลเรือโทจูอิชิ นากูโมะรู้สึกมั่นใจเป็นอย่างมากในชัยชนะต่อกองทัพสหรัฐ

อย่างไรก็ตามมีฝูงบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาได้บินเข้าโจมตีจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นและจมเรือบรรทุกเครื่องบินคากะได้สำเร็จ ต่อมาฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดอีกฝูงของกองทัพสหรัฐอเมริกาก็เดินทางมาถึงสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินโซริวและเรือบรรทุกเครื่องบินอะกากิ ในช่วงเวลานี้สัญญาณความพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่นเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเหลือเพียงเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวเพียงลำเดียว

ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขึ้นโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ที่มีพลเรือเอกแฟรงค์ แจ็ค เฟรชเชอร์เป็นผู้บัญชาการอย่างรุนแรงจนเรือเสียการควบคุม เมื่อนักบินญี่ปุ่นมองเห็นกลุ่มควันไฟขนาดใหญ่นักบินญี่ปุ่นก็เข้าใจว่าเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ได้จมเรียบร้อยแล้วแต่ความจริงทหารอเมริกาสามารถควบคุมเพลิงและซ่อมแซมความเสียหายให้เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ได้สำเร็จ

หลังนั้นญี่ปุ่นได้ส่งฝูงบินไปทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาอีก 2 ลำที่เหลือแต่ได้เกิดความผิดพลาดอย่างร้ายแรงขึ้นเมื่อนักบินญี่ปุ่นเข้าใจผิดคิดว่าเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ที่ได้รับการซ่อมแซมเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของกองทัพสหรัฐอเมริกาทำให้นักบินญี่ปุ่นโจมตีซ้ำใส่เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ ซึ่งไม่สามารถทำการรบได้แล้ว นักบินญี่ปุ่นต้องเสียเวลาและอาวุธอันมีค่าไปกับการโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ จนเรือเอียงข้าง อย่างไรก็ตามเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ก็ไม่จมลงง่าย ๆ ยังประคองตัวเองจนถูกตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำญี่ปุ่น ทหารอเมริกาต้องยอมสละเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์

เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ขณะถูกโจมตีอย่างหนักจนเรือเอียงอย่างชัดเจน ที่มาของภาพ Official U.S. Navy Photograph

ด้วยความเข้าใจผิดนักบินญี่ปุ่นรีบวิทยุรายงานความสำเร็จว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ มาถึงจุดนี้พลเรือโทจูอิชิ นากูโมะและนักบินญี่ปุ่นเริ่มมีความหวังในชัยชนะอีกครั้ง เพราะเข้าใจผิดว่าสหรัฐอเมริกาเหลือเรือบรรทุกเครื่องบินอีกเพียงแค่ 1 ลำเท่ากับฝ่ายตนเอง อย่างไรก็ตามช่วงเย็นของวันนั้นขณะที่นักบินญี่ปุ่นเริ่มเข้าพักผ่อนจากการรบมาทั้งวัน ฝูงเครื่องบินโจมตีจากเรือบรรทุกเครื่องบินฮอเน็ท และเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพรส์ก็เดินทางมาถึงเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวและทิ้งระเบิดทำลายจมเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวได้สำเร็จ

วาระสุดท้ายของเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวที่กำลังพยายามหนีการทิ้งเบิดใส่จากเครื่องบินสหรัฐอเมริกา ที่มาของภาพ U.S. Navy

บัดนี้ไม่เหลือโอกาสแห่งชัยชนะให้กองทัพญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว เมื่อเสียเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำ กองเรือที่เหลือสามารถต่อสู้กับเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาได้ แต่ทหารญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือดจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 1942 กองทัพญี่ปุ่นจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เสียเรือบรรทุกเครื่องบินอันมีค่า ทรัพยากรสงครามจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเสียนายทหารอากาศฝีมือดีไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สำหรับญี่ปุ่นแล้วไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ง่าย ๆ

ผลกระทบที่ตามมาหลังยุทธนาวีมิดเวย์

ความพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่นในยุทธนาวีมิดเวย์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เสียกองเรือบรรทุกเครื่องบินไปเกือบครึ่งหนึ่งจากการต่อสู้ในยุทธนาวีครั้งนี้และด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดการสร้างทดแทนขึ้นใหม่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอันมีค่าจำนวนมาก ญี่ปุ่นเริ่มหันเหความสนใจไปในการยึดกัวดาลคาแนล (Guadalcanal) แผนการยกพลขึ้นบกยึดออสเตรเลียแต่ญี่ปุ่นต้องตกเป็นฝ่ายล่าถอยในหลายสมรภูมิเนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรสงครามอย่างรุนแรงไม่สามารถหามาทดแทนได้จนพบกับความพ่ายแพ้และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

นายพลอิโซโรกุ ยามาโมโตะ ผู้บัญชาการกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นเดินทางกลับญี่ปุ่นด้วยความอับอายและเสียชีวิตหลังจากถูกเครื่องบินสหรัฐโจมตีขณะบินเหนือเกาะปาปัวนิวกินี ขณะเดินทางไปหมู่เกาะโซโลมอนในวันที่ 18 เมษายน 1943 ส่วนพลเรือโทจูอิชิ นากูโมะเดินทางกลับญี่ปุ่นและเข้าร่วมรวมในยุทธนาวีหมู่เกาะโซโลมอนตกวันออก สงครามแย่งชิงเกาะไซปันก่อนพลเรือโทจูอิชิ นากูโมะจะฆ่าตัวตายในวันที่ 6 กรกฏาคม 1944 หลังพ่ายแพ้ในสงครามเกาะไซปัน

นายพลเชสเตอร์ ดับเบิลยู. นิมิตซ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บัญชาการคนสำคัญและได้รับเกียรตินำชื่อมาเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-Class Aircraft Carrier) ซึ่งประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งหมด 10 ลำ นอกจากนี้กองทัพสหรัฐอเมริกายังมีเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเจอรัลด์ อาฟอร์ด (Gerald R. Ford-Class Aircraft Carrier) ที่ต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว 1 ลำ คือ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Gerald R. Ford (CVN-78) ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 2 ลำอยู่ในระหว่างการต่อเรือ นอกจากนี้ยังมีแผนการต่อเรือเพิ่มอีก 2 ลำในปี 2030 – 2034

ที่มาของข้อมูล

Battle of Midway
The Battle of Midway
The Battle of Midway was an epic clash between the U.S. Navy and the Imperial Japanese Navy
How miraculous was the battle of Midway?
Battle of Midway: World War Two Japanese carrier wrecks found
Battle of Midway turned the tide in Pacific Theatre