ฝูงบินฆ่าตัวตายคามิกาเซะ (Kamikaze) กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น

kamikaze-attack
Wars

ฝูงบินคามิกาเซะหรือกองกำลังจู่โจมพิเศษ (โทะกุเบะสึโคเกะกิไต) เป็นฝูงบินฆ่าตัวตายของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เริ่มต้นปฏฺิบัติการในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายล่าถอยและพ่ายแพ้ในสมรภูมิต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพ้อย่างหมดสภาพในสมรภูมิกัวดัลคาแนล กองทัพญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรนักบินอย่างหนัก การฝึกนักบินที่มีความสามารถต้องใช้เวลานานเกินไป ส่งผลให้กองทัพญี่ปุ่นเริ่มมีแนวคิดการใช้ฝูงบินฆ่าตัวตายขึ้นมา

แนวคิดโจมตีแบบคามิกาเซะเริ่มต้นโดยพลเรือเอกโอนิชิ ทาคิจิโรซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ให้กำเนิดการโจมตีพิเศษคามิกาเซะโดยใช้ชื่อแผนการว่าโชโก (Sho-Go) พลเรือเอกโอนิชิ ทาคิจิโรเปิดรับอาสาสมัครทหารญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ที่พร้อมสละชีวิตเพื่อประเทศและมีประสบการณ์ขับเครื่องบินรบ จนกระทั่งในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขาดแคลนนักบินรบและหันมาใช้นักเรียนวัยหนุ่มที่ขาดประสบการณ์การรบ ง่ายต่อการปลุมระดมความคิดเรื่องความรักชาติและการฆ่าตัวตายเพื่อประเทศญี่ปุ่น นักบินวัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้เวลาฝึกบินในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประมาณ 1-2 อาทิตย์ก็ถูกส่งขึ้นบินเพื่อฆ่าตัวตาย

การโจมตีของฝูงบินคามิกาเซะในช่วงแรกใช้เครื่องบินขับไล่ Mitsubishi A6M Zero และเครื่องบินทิ้งระเบิด ตอร์ปิโด Nakajima B6N เครื่องบินทิ้งระเบิด Mitsubishi G4M และ Yokosuka P1Y ต่อมาหลังขาดแคลนเครื่องบินรบอย่างหนัก ญี่ปุ่นเริ่มใช้เครื่องบินทุกรูปแบบที่บินได้ติดตั้งระเบิดเพื่อพุ่งชนเรือรบสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการใช้เครื่องบินฆ่าตัวตายแบบ Yokosuka MXY-7 Ohka ที่ออกแบบให้ติดไอพ่นช่วงท้ายและระเบิดขนาดหนักด้านหน้าของเครื่องบิน กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นสร้างเครื่องบินจรวดความเร็วสูง Yokosuka MXY-7 Ohka ออกมาจำนวนมากเกือบ 1,000 ลำ

เครื่องบินขับไล่ Mitsubishi A6M Zero บนเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น Shokaku ที่มาของรูปภาพ Official U.S. Navy Photograph

คำว่า “คามิกาเซะ” แปลว่าลมสวรรค์ในภาษาญี่ปุ่น โดยเป็นชื่อของพายุไต้ฝุ่นคามิกาเซะที่เข้าถล่มเกาะญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 1281 และทำให้กองทัพเรือของจักรพรรดิกุบไลข่านกว่า 5,000 ลำที่กำลังเดินเรือเข้าโจมตีญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจนพ่ายแพ้ยกเลิกแผนการโจมตีเกาะญี่ปุ่น

เนื้อเพลงท่อนหนึ่งของนักบินคามิกาเซะบรรยายว่า “เติมเชื้อเพลงพร้อมเดินทางครั้งสุดท้าย ด้วยหยาดน้ำตาของพวกเราเดินทางสู่โลกหน้า ก่อนอำลาโลกนี้นึกถึงใบหน้าของแม่ขึ้นมา ” จดหมายฉบับหนึ่งของนักบินคามิกาเซะเขียนถึงพ่อแม่ “ขอให้คุณแม่ดูแลสุขภาพ มีความสุข แม้ดวงวิญญาณของผมจะไปอยู่ที่ศาลเจ้ายะสุกุนิ (ศาลเจ้าที่เก็บอัฐิทหารญี่ปุ่น) ผมจะอยู่เคียงข้างแม่ตลอดไป”

ฝูงบินคามิกาเซะเริ่มออกปฏิบัติการครั้งแรกในช่วงการสู้รบในยุทธนาวีที่อ่าวเลย์เต การสู้รบบริเวณเกาะเลย์เต ซามาร์ ลูซอนของประเทศฟิลิปปินส์ วันที่ 21 ตุลาคม 1944 นักบินญี่ปุ่นไม่ทราบชื่อบนเครื่องบินญี่ปุ่น 2 ลำขับเครื่องบินดื่งพุ่งชนเรือลาดตระเวนหนัก HMAS Australia กองทัพเรือออสเตรเลีย ต่อมาในวันที่ 25-26 ตุลาคม 1944 นักบินญี่ปุ่นบนเครื่องบินขับไล่ Mitsubishi A6M Zero จำนวน 5 ลำออกปฏิบัติการฆ่าตัวตายพุ่งชนเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกานำการโจมตีโดยร้อยโทฮิโรโยชิ นิชิซาวา เมื่อตรวจพบกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอยู่ในตำแหน่งที่สามารถโจมตี​ร้อยโทฮิโรโยชิ นิชิซาวา ส่งสัญญาณให้นักบินเครื่องบินขับไล่ทั้ง 5 ลำเริ่มดำดิ่งพุ่งชนเพื่อฆ่าตัวตาย

อ่านเพิ่มเติม : The Wind Rises ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก อนิเมชั่นบอกเล่าเรื่องราวของผู้ออกแบบเครื่องบินรบ

การโจมตีประสบความสำเร็จโดยนักบินเครื่องบินขับไล่ที่ขับโดยเรือเอกยูเคโอะ เซกินำเครื่องบินขับไข่ Mitsubishi A6M Zero พร้อมระเบิดดำดิ่งพุ่งชนฆ่าตัวตายใส่เรือบรรทุกเครื่องบิน USS St. Lo ไฟไหม้เครื่องบินใต้ท้องเรือระเบิด ทหารอเมริกาจำนวนมากเสียชีวิต กัปตันเรือบรรทุกเครื่องบิน USS St. Lo ประกาศสละเรือก่อนเรือบรรทุกเครื่องบินจะชมลงสู่ทะเลประเทศฟิลิปปินส์

ภายหลังจากการโจมตีในครั้งนี้ทำให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มใช้ปฏิบัติการฝูงบินคามิกาเซะบ่อยครั้งมากขึ้นสร้างความสูญเสียให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกาหลายพันคนต้องเสียชีวิต นอกจากนี้ยังเกิดความเชื่อในหมู่ทหารญี่ปุ่นว่าเสียสละชีวิตตัวเอง 1 คนเพื่อจมเรือกองทัพสหรัฐอเมริกาให้ได้ 1 ลำ แม้ว่าจะสหรัฐอเมริกาจะใช้ระบบการแจ้งเตือนการมาถึงของฝูงบินคามิกาเซะโดยการส่งเรือไปประจำตำแหน่งรอบกองเรือบรรทุกเครื่องบินแต่ก็ไม่สามารถสะกัดการโจมตีได้ทั้งหมด

ทหารอเมริกาต่อสู้รักษาชีวิตเพื่อกลับบ้าน แต่ทหารญี่ปุ่นต่อสู้เพื่อที่จะตาย มันเป็นสงครามนอกรูปแบบที่น่าเศร้าและหดหู่ใจ

หากมองในมุมมองของคนปัจจุบันมันยากที่จะทำความเข้าใจความคิดของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าเศร้าที่บันทึกของกองทัพสหรัฐการโจมตีของฝูงบินคามิกาเซะส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จแม้จะโจมตีด้วยเครื่องบินจรวดความเร็วสูง Yokosuka MXY-7 Ohka ก็ยากที่จะพุ่งชนเรือรบสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการดำดิ่งเพื่อโจมตีเรือรบด้วยความเร็วสูงนักบินญี่ปุ่นในห้องโดยสารจะมองเห็นเป้าหมายเรือรบสหรัฐอเมริกาเป็นจุดเล็ก ๆ ก่อนพุ่งชนมีเวลาตัดสินใจเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

เครื่องบินจรวดความเร็วสูง Yokosuka MXY-7 Ohka ขณะถูกทหารอเมริกายึดได้บริเวณสนามบินญี่ปุ่นบนเกาะโอกินาวา ที่มาของภาพ Official U.S. Navy Photograph

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อเปลี่ยนทิศทางของสงครามแต่ด้วยพลังด้านการผลิตของอุตสหกรรมสงครามสหรัฐอเมริกาที่สามารถผลิตเรือและเครื่องบินเข้าทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ความตายของนักบินญี่ปุ่นอาจช่วยได้เพียงชะลอเวลาความพ่ายแพ้ออกไปเท่านั้น บัดนี้ไม่เหลือหนทางหรือแสงสว่างแห่งชัยชนะของกองทัพญี่ปุ่นอีกต่อไป

นักบินคามิกาเซะที่อ่อนประสบการณ์การบินเข้าโจมตีแบบไร้ซึ่งความหวังและตกเป็นเป้าที่ง่ายดายของนักบินสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีรวมไปถึงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่สามารถบินได้รวดเร็วกว่า Mitsubishi A6M Zero ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ที่เร็วมากที่สุดในโลกช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 นักบินคามิกาเซะกว่า 2,000 ลำ สละชีพราวกลีบดอกซากุระร่วงหล่นลงพื้นดินและจางหายไปในกาลเวลา

ในช่วงท้ายของสงครามพลเรือเอกโอนิชิ ทาคิจิโรในฐานะผู้ให้กำเนิดฝูงบินคามิกาเซะได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมหรือ “เซ็ปปูกุ” ในภาษญี่ปุ่น การฆ่าตัวตายตามวิถีของซามูไรญี่ปุ่นใช้มีดสั้นคว้านท้องตัวเองและให้ซามูไรอีกคนใช้ดาบยาวตัดศรีษะให้ขาดออกจากร่างกาย

สงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดงออกถึงด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ที่โหดร้ายมากที่สุดทั้งจากฝ่ายประเทศผู้ชนะสงครามและผู้แพ้สงคราม ในประเทศญี่ปุ่นฝูงบินฝูงบินคามิกาเซะถูกจดจำในฐานะทหารที่สละชีพเพื่อชาติ แต่ในมุมมองของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์คงเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงความโหดร้ายของสงครามที่พรากทุกคนไปจากครอบครัวที่ตัวเองรัก เราศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้สงครามที่โหดร้ายต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีการทำลายล้างในปัจจุบันสงครามโลกครั้งที่ 3 คงเป็นสงครามล้างโลกการล่มสลายของอารยธรรมมนุษยชาติ

ที่มาของข้อมูล

World War II in the Pacific Japanese Suicide Attacks at Sea
Japan: No Surrender in World War Two
Intense Footage of Kamikaze Attacks During WWII
First kamikaze attack of the war begins