โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของพรรคนาซีเยอรมัน

People

โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ หรือ (Paul Joseph Goebbels) ผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีเยอรมัน รัฐมนตรีกระทรวงประชาบาลและโฆษณาการไรช์ (Reich Ministry of Public Enlightenment and Propaganda) และผู้ดำรงตำแหน่งรองจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1897 ในปรัสเซีย จักรวรรดิเยอรมัน เขาตัวเล็กกว่าชาวเยอรมันนีทั่วไปและมีร่างกายพิการด้วยโรคโปลิโอที่ขาแต่เขาก็มีผลการเรียนที่ดี สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์วรรณคดี มีความสามารถในด้านการเขียน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการทำโฆษณาชวนเชื่อในยุคนั้น

ความเคียดแค้นและการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในวัยเด็กเนื่องจากร่างกายมีความพิการช่วยผลักดันให้โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์แสวงหาการยอมรับและชื่อเสียง ฮิตเลอร์มองเห็นปีศาจในตัวโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ เนื่องจากฮิตเลอร์เองก็มีชีวิตในวัยเด็กที่ไม่ดีนักถูกทำร้ายร่างกายจากบิดาที่โมโหร้าย ฮิตเลอร์มองเห็นตัวเองในตัวของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ จากพรสวรรค์ในการพูดโน้มน้าวจิตใจผู้คน ฮิตเลอร์นั้นเคยเป็นโฆษกของพรรคกรรมกรเยอรมันฝีปากกล้าดุดันมาก่อน ทำให้เข้าใจว่าควรเลือกบุคคลแบบไหนเข้ามาทำงานด้านการโฆษณาชวนเชื่อให้กับพรรคนาซีเยอรมัน

ในระหว่างดำรงตำแหน่งโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ มีฝีปากที่รุนแรงสามารถพูดปลุกระดมความรู้สึกของคนเยอรมันให้เกลียดชังชาวยิว สนับสนุนสงคราม ตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ การ์ตูน บทเพลง สร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Jud Suss , Derewige Jud ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีชาวยิวทั้งหมดสาเหตุที่พรรคนาซีต้องการสร้างความเกลียดชังชาวยิวเนื่องจากระบบเผด็จการต้องสร้างขึ้นจากความเกลียดชัง แบ่งแยกมวลชนการทำให้มวลชนจำนวนหนึ่งสนับสนุนเผด็จการ

ผลลัพท์ของการทำโฆษณาชวนเชื่อของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์นั้นรุนแรงกว่าอาวุธปืนหรือระเบิด คนเยอรมันเกลียดชังชาวยิวและต้องการสงคราม กองทัพนาซีเยอรมันมีความมั่นใจในการรบและเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดีเพื่ออาณาจักรไรช์ที่ 3 กล่าวกันว่าแม้แต่ตัวฮิตเลอร์เองก็หลงในอำนาจและคลั่งชาติตามโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีเยอรมันไปด้วย ส่วนหนึ่งที่ทำให้โฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีเยอรมันประสบความสำเร็จมาจากยุคสมัยนั้นช่องทางสื่อไม่มีความหลากหลายประกอบกับชาวเยอรมันไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสนธิสัญญาแวร์ซายหลังประเทศแพ้สงครามสงครามโลกครั้งที่ 1 และภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันนีกำลังเข้าใกล้ความพ่ายแพ้ในสงครามฮิตเลอร์ยิงตัวตายในป้อมลับใต้ดิน โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจึงได้รับตำแหน่งต่อจากฮิตเลอร์ อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 พฤษภาคม 1945 เมื่อกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตบุกเข้าถึงกรุงเบอร์ลิน โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ก็ชิงฆ่าตัวตายไปเสียก่อนพร้อมกับภรรยาและลูกอีก 6 คน ด้วยการกรอกยาพิษให้กับลูกของตัวเอง โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ถูกจดจำให้ฐานะผู้ใช้การโฆษณาชวนเชื่อที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นต้นเหตุหนึ่งของความตายของผู้คนหลายสิบล้านคนในสงครามโลกครั้งที่ 2

การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)

การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) มักพบในประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ ประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการจะมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อในปริมาณที่มหาศาลแทบจะเรียกได้ว่าตั้งแต่ประชาชนตื่นตอนเช้าจนถึงก่อนเข้านอน โดยพื้นที่ฐานแล้วมีจุดประสงค์คล้าย ๆ กัน คือ การป้อนความคิดบางอย่างให้กับประชาชนผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ให้เป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ปกครอง เน้นความรู้สึกทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล โฆษณาชวนเชื่อจึงมักถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านลบ ปลูกฝังแนวคิดเผด็จการทหาร มากกว่าจุดประสงค์ด้านบวก

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการทำโฆษณาชวนเชื่อเริ่มต้นในยุคที่มนุษย์เริ่มพัฒนาวิธีการติดต่อสื่อสารด้วยภาษาเขียน ในระยะแรกอาจทำควบคู่กับความเชื่อทางด้านศาสนาและการปกครอง เช่น ในยุคสมัยอาณาจักรโรมัน ส่วนการทำโฆษณาชวนเชื่อสมัยใหม่เริ่มต้นในประมาณศตวรรษที่ 16 ผ่านทางหนังสือพิมพ์ การปลูกฝังแนวคิดรักชาติ ชาตินิยม ยุคสมัยแห่งการสำรวจ การล่าอาณานิคม การสร้างจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลางใช้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนและทหารของตัวเองเพื่อสร้างความเชื่อและความรู้สึกร่วมกันในการสนับสนุนสงคราม ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่พรรคนาซีเยอรมันมีอำนาจและเติบโตสูงสุด โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ได้เข้ามามีบทบาทในช่วงนี้เพื่อสร้างโฆษณาชวนเชื่อเชิดชูพรรคนาซีเยอรมันและผู้นำอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การทำสงครามยึดดินแดนไม่สามารถกระทำได้ด้วยกำลังเพียงอาวุธแต่รวมการทำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกร้องแรงสนับสนุนจากคนในประเทศเยอรมันนีและล้างสมองประชากรในประเทศที่ถูกเยอรมันนียึดครองให้สมยอมรับกับอำนาจการปกครองใหม่ร่วมกันสร้างอาณาจักรไรช์ที่ 3 ตามแนวคิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ผลลัพท์ของการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ส่งเสริมแนวคิดอนุรักษ์นิยม เชิดชูผู้นำ ลัทธิบูชาบุคคล ความรักชาติ แม้จะมีข้อดีอยู่บ้างแต่โดยเนื้อแท้แล้วมักลงเอยด้วยความรุนแรงและการใช้กำลังต่อผู้ที่มีความคิดแตกต่างจากสิ่งที่โฆษณาชวนเชื่อพยายามนำเสนอ ในกรณีของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ พรรคนาซีเยอรมันผู้ไม่จงรักภักดีต่ออาณาจักรไรช์ที่ 3 และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะได้รับการตอบโต้ที่รุนแรงจากประชาชนที่ติดตามโฆษณาชวนเชื่อ ทหารหรือตำรวจที่ติดตามโฆษณาชวนเชื่อ กระทำการทุบตี ทารุณกรรม ปิดท้ายด้วยความตายและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ที่มาของข้อมูล

Joseph Goebbels