ยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) การรวมกำลังบุกครั้งสุดท้ายของนาซีเยอรมัน

battle-of-the-bulge
Wars

ภายหลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดแนวชายฝั่งนอร์มังดีประเทศฝรั่งเศส กองทัพนาซีเยอรมันตกเป็นฝ่ายล่าถอยจนกลับไปสู่ชายแดนประเทศเยอรมัน อย่างไรก็ตามแม้จะเหลือความหวังอันริบหรี่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ผู้นำกองทัพนาซีเยอรมันยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เขามีความเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าเยอรมันยังไม่แพ้ ความมั่นใจส่วนหนึ่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มาจากการเคลื่อนทัพที่ไร้ประสิทธิภาพของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร สายส่งกำลังบำรุงที่ยาวเหยียดจากชายฝั่งเข้าสู่ภาคพื้นยุโรปจนกำลังรบส่วนแนวหน้าเริ่มอ่อนล้า

กองทัพนาซีเยอรมันเปิดฉากยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) การรวบรวมกำลังรบชุดสุดท้ายบุกเข้าตีโต้ตอบกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรบริเวณป่าอาร์แดนประเทศเบลเยียมและประเทศลักเซมเบิร์ก การรบครั้งนี้เป็นไปอย่างดุเดือดท่ามกลางอากาศหนาวเยือกแข็งของป่าอาร์แดนในระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 1944 ถึง 25 มกราคม 1945

แผนการบุกของกองทัพนาซีเยอรมัน

กองทัพนาซีเยอรมันภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ออกคำสั่งให้จอมพลวัลเทอร์ โมเดิลนำกำลังทหารพร้อมรถถังเข้าบุกโจมตีกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใช้วิธีการบุกสายฟ้าแลบเคลื่อนกำลังรบในลักษณะคีมหนีบหรือบลิทซ์ครีค (Blitzkrieg) การบุกโอบล้อมกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรบริเวณป่าอาร์แดนและเมืองอื่น ๆ ตลอดแนวทิศเหนือและทิศใต้เพื่อมุ่งหน้าไปเข้ายึดเมืองท่าแอนต์เวิร์ป (Port of Antwerp) ประเทศเบลเยียมซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งนี้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ขนส่งกำลังรบเข้าสู่ภาคพื้นยุโรป

กองทัพนาซีเยอรมันแบ่งกำลังโจมตีออกเป็น 3 ทิศทาง ปีกทิศเหนือใช้หน่วยรถถังพันท์เซอร์ที่ 6 Sixth Panzer Army (Dietrich) แนวรบตรงกลางใช้หน่วยรถถังพันท์เซอร์ที่ 5 Fifth Panzer Army ปีกทิศใต้ใช้กองทัพที่ 7 Seventh Army (Brandenberger) การบุกในช่วงแรกกองทัพนาซีเยอรมันใช้กำลังรบแบ่งออกเป็นทหารราบประมาณ 400,000 นาย กองทัพรถถังจู่โจมประมาณ 1,200 คันและรถถังแบบอื่น ๆ อีกประมาณ 1,200 คัน

แผนที่แสดงการบุกของกองทัพนาซีเยอรมัน

ภาพอธิบายแผนการบุกของกองทัพนาซีเยอรมัน เส้นสีแดงคือเส้นทางการบุกที่วางแผนเอาไว้สู่เป้าหมายเมืองท่าแอนต์เวิร์ป (Port of Antwerp) มุมซ้ายด้านบนของแผนที่  (ที่มาของภาพ US Army Center for Military History)
ภาพอธิบายแผนการบุกของกองทัพนาซีเยอรมัน เส้นสีแดงคือเส้นทางการบุกที่วางแผนเอาไว้สู่เป้าหมายเมืองท่าแอนต์เวิร์ป (Port of Antwerp) มุมซ้ายด้านบนของแผนที่ (ที่มาของภาพ US Army Center for Military History)

การตั้งรับของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร

จอมพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรออกคำสั่งให้จอมพลเบอร์นาร์ด มอนต์โกเมอรี 21st Army Group กองทัพอังกฤษนำกำลังทหารเข้าโจมตีด้านปีกทิศเหนือ จอมพลโอมาร์ แบรดลีย์ 12th Army Group กองทัพสหรัฐอเมริกานำกำลังเข้าปกป้องเส้นทางเมืองบาสตองและพื้นที่บริเวณป่าอาร์แดน พลเอกจอร์จ เอส. แพตตัน U.S. Third Army นำกำลังรถถังเข้าโจมตีด้านปีกทิศใต้และฝ่าวงล้อมทหารนาซีเยอรมันเข้าไปสร้างเส้นทางส่งกำลังบำรุงให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเมืองบาสตอง

การตั้งรับในช่วงแรกของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรใช้กำลังรบแบ่งออกเป็นทหารราบประมาณ 200,000 นาย รถถังแบบจู่โจมประมาณ 1,000 คันและรถถังแบบอื่น ๆ อีกประมาณ 1,900 คัน ก่อนได้รับการสนับสนุนเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดอีกจำนวนหนึ่งในช่วงท้ายของการรบ

การปิดล้อมเมืองบาสตอง (Bastogne)

เมืองบาสตอง (Bastogne) เมืองเล็กๆ กลางป่าอาร์แดนมีตำแหน่งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในยุทธการตอกลิ่มและกลายเป็นพื้นที่การต่อสู้ที่เดือดคร่าชีวิตทหารทั้งสองฝ่ายไปเป็นจำนวนมาก การรบในช่วงแรกทหารสหรัฐอเมริกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารใหม่ไม่เคยผ่านการรบมาก่อนทำให้ไม่สามารถตั้งรับสู้กับทหารนาซีเยอรมันที่มีประสบการณ์การรบในหลายสมรภูมิทำให้ต้องพบกับสูญเสียอย่างหนักจนต้องตกเป็นฝ่ายล่าถอยแบบไม่เป็นขบวนทัพ

แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีกองทัพอากาศที่เหนือกว่าแต่เนื่องจากอากาศหนาวและท้องฟ้าปิดทำให้ไม่สามารถส่งเครื่องบินรบสนับสนุนและส่งกำลังบำรุงให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรวางกำลังปกป้องเมืองบาสตองที่ถูกทหารนาซีเยอรมันล้อมเอาไว้

อย่างไรก็ตามการรบในป่าอาร์เเดนเป็นไปอย่างยากลำบาก กองทัพนาซีเยอรมันไม่สามารถยึดเมืองบาสตองอย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งรับอย่างเหนียวแน่น ทหารเยอรมันส่งข้อความไปยังทหารฝ่ายสันพันธมิตรในเมืองบาสตองเพื่อขอให้ยอมแพ้ไม่เช่นนั้นจะถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด

ในช่วงเวลาใกล้สิ้นหวังกระสุนใกล้หมดท้องฟ้าเหนือเมืองบาสตองเริ่มเปิดและเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถบินเข้าสู่พื้นที่การสู้รบเพื่อส่งกำลังบำรุงและโจมตีสนับสนุนทางอากาศได้สำเร็จ ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรพลิกสถานการณ์กลับเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีตอบโต้ใส่วงล้อมทหารนาซีเยอรมัน

หลังจากถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนักและการยิงปืนใหญ่เข้าใส่อย่างหนักหน่วงกองทัพนาซีเยอรมันต้องตกเป็นฝ่ายล่าถอย นอกจากนี้การส่งกำลังบำรุงไปให้หน่วยรถถังพันท์เซอร์ที่อยู่บริเวณพื้นที่แนวหน้าการสู้รบเป็นไปด้วยความยากลำบากจนทำให้หน่วยรถถังพันท์เซอร์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและกระสุนอย่างหนักถึงขนาดต้องทิ้งรถถังไว้กลางทางและใช้วิธีเดินเท้าล่าถอยกลับสู่แนวรบประเทศเยอรมัน กองทัพนาซีเยอรมันล่าถอยอย่างสิ้นหวังจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในยุทธการตอกลิ่ม

พลปืนกลสหรัฐอเมริกาขณะเตรียมพร้อมรบในหลุมบุคคล บริเวณการสู้รบเมืองบาสตอง (ที่มาของภาพ army.mil)
ทหารสหรัฐอเมริกากองพัน 101st บริเวณพื้นที่สู้รบเมือง Wiltz ประเทศลักเซมเบิร์ก (ที่มาของภาพ U.S. National Archives and Records Administration)

นอกจากการสู้รบที่เมืองบาสตองยังมีการปะทะอย่างดุเดือนที่เมืองอื่น ๆ ตลอดเส้นทางมุ่งหน้าไปยังเมืองท่าแอนต์เวิร์ป (Port of Antwerp) เช่น การสู้รบบริเวณสันเขาเอลเซ็นบอร์น (Elsenborn) การสู้รบบริเวณเมืองเซนต์วิส (Battle for St. Vith) การสู้รบบริเวณแม่น้ำอัท (River Our)

สำหรับตัวเลขความสูญเสียของทหารทั้งสองฝ่ายในยุทธการตอกลิ่ม (Battle of the Bulge) พุ่งสูงกว่า 2 แสนนายภายในเวลาเพียง 4 สัปดาห์กว่าเท่านั้นหรือโดยเฉลี่ยแล้วมีทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตวันล่ะประมาณ 6,000 นาย ในจำนวนทั้งหมดนี้ประมาณการว่าหายสาบสูญหาศพไม่พบมากกว่า 50,000 นาย นอกจากนี้ยังมีพลเรือนประเทศเบลเยียมและประเทศลักเซมเบิร์กเสียชีวิตไปกว่า 3,000 คน การรับในครั้งนี้นำมาสู่ความเสียหายอย่างหนักของกองทัพนาซีเยอรมันจนกระทั่งแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลวัลเทอร์ โมเดิลผู้บัญชาการรบนาซีเยอรมันในครั้งนี้ตัดสินในทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบในวันที่ 21 เมษายน 1945

ที่มาของข้อมูล

The Battle of the Bulge
Battle of the Bulge: How American Grit Halted Hitler’s Last-Ditch Strike