สมรภูมิคาบสมุทรกัลลิโพลี (Battle of Gallipoli)

battle-of-gallipoli
Wars

สมรภูมิคาบสมุทรกัลลิโพลี ความพ่ายแพ้ยับเยินของกองทัพจักรวรรดิบริติช (อังกฤษ) และสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 (ฝรั่งเศส) ต่อกองทัพจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) การรบในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทุ่มเทกำลังรบทางทหารครั้งมโหฬารและต้องพบกับสูญเสียครั้งใหญ่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1

สมรภูมิคาบสมุทรกัลลิโพลีเกิดขึ้นจากแนวคิดของจักรวรรดิบริติชที่ต้องการเคลื่อนกำลังรบทางเรือไปยังบริเวณทะเลดำเพื่อช่วยจักรวรรดิรัสเซียที่กำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบกองทัพจักรวรรดิเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออก

การเคลื่อนกำลังรบทางเรือจำเป็นต้องเคลื่อนจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังทะเลดำชายฝั่งจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งต้องผ่านด่านแรกพื้นที่คาบสมุทรกัลลิโพลีและด่านที่สองช่องแคบบอสพอรัสซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือเมืองอิสตันบูลเมืองหลวงประเทศตุรกีในปัจจุบัน การเคลื่อนกำลังรบทางเรือถูกสะกัดโดยกองทัพจักรวรรดิออตโตมันอย่างหนักหน่วงและดูเหมือนเป็นภารกิจที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

แผนที่แสดงตำแหน่งคาบสมุทรกัลลิโพลีและช่องแคบบอสพอรัส
กองทัพเรือจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศส

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดระหว่างวันที่ 25 เมษายน 1915 – 9 มกราคม 1916 กองทัพจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศสใช้กำลังรบประมาณ 500,000 นาย โดยอังกฤษใช้กองกำลังผสมชาวอาณานิคมอินเดีย นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เคลื่อนทัพเป็นกองเรือขนาดมหึมา เรือประจัญบานขนาดใหญ่ 18 ลำ พร้อมเรือรบประเภทอื่น ๆ อีกหลายสิบลำ

การตั้งรับของจักรวรรดิออตโตมันวางกำลังรบป้องกันอย่างเหนียวแน่นกว่า 300,000 นายโดยได้รับการสนับสนุนกำลังรบบางส่วนจากจักรวรรดิเยอรมัน ใช้การตั้งรับโดยการวางทุ่นระเบิดใต้น้ำ ปืนใหญ่ชายฝั่ง

ตลอดระยะเวลา 1 ปีเกิดการปะทะดุเดือดหลายครั้ง เปิดฉากด้วยกองเรือจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศสพยายามวิ่งผ่านช่องแคบคาบสมุทรกัลลิโพลีแต่โดนปืนใหญ่จากชายฝั่งของกองทัพจักรวรรดิออตโตมันยิงเข้าใส่อย่างหนักประกอบกับเจอทุ่นระเบิดใต้น้ำจนเรือหลายลำเสียหายและต้องล่าถอยออกจากช่องแคบคาบสมุทรกัลลิโพลี ไม่สามารถฝ่าดวงกระสุนไปยังช่องแคบบอสพอรัสได้ตามแผนการ

ปืนใหญ่ชายฝั่งของกองทัพจักรวรรดิออตโตมันที่ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิเยอรมัน

หลังจากนั้นกองเรือจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศสพยายามยกพลขึ้นบกบริเวณแหลมเคปเฮลส์ ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณปลายสุดของคาบสมุทรกัลลิโพลีระหว่างวันที่ 25 เมษายน 1915 – 26 เมษายน 1915 ทหารกองทัพจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศสเสียชีวิตกว่า 7,000 นายและบาดเจ็บอีกหลายพันคน รูปแบบการรบอื่น ๆ เป็นสงครามสนามเพลาะแย่งชิงพื้นที่ การต่อสู้ระหว่างเรือประจัญบานกับป้อมปืนใหญ่ชายฝั่ง

ด้วยการตั้งรับที่แข็งแกร่งและชัยภูมิที่ได้เปรียบของกองทัพจักรวรรดิออตโตมันทำให้กองทัพจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศสตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเสียหายอย่างหนักจนต้องร้องขอการถอนกำลังออกแต่คำขอร้องไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลอังกฤษและสั่งให้การสู้รบดำเนินต่อไปจนกว่าได้รับชัยชนะโดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือวินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของอังกฤษที่จะต้องนำประเทศผ่านพ้นสภาวะสงครามที่โหดร้ายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

การรบในสมรภูมิคาบสมุทรกัลลิโพลียุติลงในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1916 กองทัพจักรวรรดิออตโตมันได้รับชัยชนะแต่ต้องสูญเสียทหารไปกว่า 56,600 นาย ในขณะที่กองทัพจักรวรรดิบริติชและสาธารณรัฐฝรั่งเศสเสียทหารไปกว่า 56,707 นายและถอนกำลังออกจากคาบสมุทรกัลลิโพลีไปยังประเทศกรีซ รัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือวินสตัน เชอร์ชิลลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อชีวิตทหารและความพ่ายแพ้ในสมรภูมิคาบสมุทรกัลลิโพลี

เรียบเรียงโดย THE HISTORY NOW