เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีน (Aircraft Carrier Graf Zeppelin) เรือรบที่ถูกลืมในสงครามโลกครั้งที่ 2

german-aircraft-carrier-graf-zeppelin
TechnologyWars

เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีน (Aircraft Carrier Graf Zeppelin) หนึ่งในเรือรบของกองทัพนาซีเยอรมันที่ถูกลืมและเป็นหนึ่งในเรือรบที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงลำหนึ่งของโลกในยุคนั้น การต่อสู้ทางทะเลในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและทะเลเหนือกองทัพเรือนาซีเยอรมันและกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าปะทะกันอย่างดุเดือด กองเรือรบนาซีเยอรมันสร้างชื่อเสียงจากการใช้เรือดำน้ำเกือบ 1,000 ลำ โจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรและเรือประจัญบานขนาดใหญ่

การรบทางทะเลที่มีประสิทธิภาพกองทัพเรือจะต้องครองน่านฟ้า มหาสมุทรและใต้น้ำ เรือบรรทุกเครื่องบินกลายเป็นจุดอ่อนและมิติการรบทางทะเลของกองทัพเรือนาซีเยอรมันที่ขาดหายไป กองทัพนาซีเยอรมันพยายามพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ภายใต้เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น กราฟ เซ็พเพอลีน (Aircraft Carrier Graf Zeppelin) ตามแผนการนาซีเยอรมันต้องการเรือรบ 2 ลำในชั้นนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกใช้ชื่อว่า กราฟ เซ็พเพอลีน ชื่อถูกตั้งตามชื่อของแฟร์ดีนันท์ ฟ็อน เซ็พเพอลีน (Ferdinand von Zeppelin) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันผู้คิดค้นเรือเหาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำยังไม่มีชื่อและไม่มีการเริ่มก่อสร้างเกิดขึ้น

การก่อสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนเริ่มขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม 1936 โดยอู่ต่อเรือ Deutsche Werke เมือง Kiel ใช้ทีมวิศวกรชาวเยอรมันที่ได้รับความช่วยเหลือจากวิศวกรชาวญี่ปุ่นซึ่งในยุคนั้นกองทัพเรือญี่ปุ่นเป็นกองทัพเรือแรก ๆ ของโลกที่พัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อการโจมตี โดยกองทัพเรือญี่ปุ่นได้ศึกษาต้นแบบมาจากองทัพเรืออังกฤษอีกทอดหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม : เรือบรรทุกเครื่องบินโฮโซ (Hōshō) หรือ เทพวายุภักษ์แห่งไฟบิน เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของโลก

การก่อสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ประเทศเยอรมันหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 โดนกีดกันด้านการค้าและเทคโนโลยีต่าง ๆ แม้ภายใต้การปกครองของพรรคนาซีเยอรมันจะพยายามสร้างกองทัพขนาดใหญ่ การขาดความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินรบและนโยบายการรบที่ให้ความสำคัญกับกองเรือดำน้ำมากกว่าการรบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้นในปี 1939 เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนก็ยังสร้างไม่เสร็จ โครงการมีความคืบหน้าเพียงแค่ 85-90% ในขณะเดียวกันการต่อสู้บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและทะเลเหนือก็เป็นไปอย่างดุเดือดกองทัพเรือนาซีเยอรมันในยุคนั้นมีความเชื่อเรื่องการใช้กองเรือดำน้ำเป็นอาวุธโจมตีสกัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากสหรัฐอเมริกายังประเทศอังกฤษโดยทุ่มทรัพยากรสงครามสร้างกองเรือดำน้ำเกือบ 1,000 ลำ เนื่องจากในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีการใช้งานเทคโนโลยีตรวจจับเรือดำน้ำด้วยคลื่นโซนาใต้น้ำทำให้การรบใต้ผิวน้ำมีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก

เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีน (Graf Zeppelin)

เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีน (Graf Zeppelin) เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่มีระวางขับดันน้ำมากถึง 33,550 ตัน มีขนาดเล็กกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินอะคากิของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่มีระวางขับดันน้ำ 36,500 ตัน และมีขนาดใหญ่กว่าเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เอนเทอร์ไพรซ์ (CV-6) ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่มีระวางขับดันน้ำ 25,500 ตัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนถูกออกแบบให้สามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้มากถึง 43 ลำ เลือกปรับเปลี่ยนตามลักษณะการทำภารกิจ เครื่องบินรบที่สามารถประจำการและขึ้นลงบนเรือได้ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109T , เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Junkers Ju 87C และ Junkers Ju 87E , เครื่องบินปีก 2 ชั้น ติดตั้งตอปิโด Fieseler Fi 167 , เครื่องบินสกัดกั้นระดับความสูง Messerschmitt Me 155 ซึ่งเครื่องบินรุ่นนี้ถูกออกแบบให้ใช้โจมตีเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 Superfortress ที่บินในระดับความสูงเกือบ 10 กิโลเมตรของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างไรก็ตามกองทัพนาซีเยอรมันไม่สามารถสร้างขึ้นได้สำเร็จเนื่องจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน

การออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนมีลักษณะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินดาดฟ้าเรียบความยาวลำตัวเรือ 262.5 เมตร ความกว้าง 36.2 เมตร กินน้ำลึก 8.5 เมตร เรือทำความเร็วสูงสุด 33.8 นอต หรือประมาณ 62.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งลิฟต์ยกเครื่องบินจากโรงเก็บใต้ดาดฟ้าเรือจำนวน 3 จุด กำลังพลประจำเรือรวมทั้งหมด 1,720 นาย ด้านเทคโนโลยีอาวุธป้องกันมีการติดตั้งปืนใหญ่ 100-150.5 มม. จำนวน 28 ระบบ ปืนขนาด 3.7 มม. 22 ระบบปืนกลต่อสู้อากาศยาน 28 ระบบ เกราะด้านข้างลำตัวเรือความหนา 10 เซนติเมตร เกราะดาดฟ้าเรือหนา 4.5 – 6 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามเนื่องจากช่วงท้ายของสงครามและความขาดแคลนอาวุธของกองทัพนาซีเยอรมันทำให้ปืนขนาดต่าง ๆ ได้ถูกถอดออกจากเรือเพื่อนำไปใช้ป้องกันการรุกภาคพื้นดินจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเป็นคำสั่งจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

เครื่องดีดปล่อยตัวเครื่องบินรบด้วยระบบอัดอากาศ

สิ่งที่น่าตกใจสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีน กองทัพเรือนาซีเยอรมันต้องการให้ติดตั้งเครื่องดีดปล่อยตัวเครื่องบินรบจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำหน้ามากในยุคนั้นและในปัจจุบันถูกใช้ในเรือบรรทุกเครื่องบินยุคใหม่ของสหรัฐอเมริกาทุกลำแต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้แรงอัดจากไอน้ำและพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในอนาคต

กองทัพเรือนาซีเยอรมันใช้วิธีวางเครื่องดีดปล่อยตัวเครื่องบินด้วยระบบอัดอากาศจำนวน 2 ระบบไว้บริเวณส่วนหัวของเรือบรรทุกเครื่องบินมีขีดความสามารถในการปล่อยเครื่องบินพร้อมกัน 2 ลำ เครื่องดีดปล่อยตัวแต่ละระบบความยาว 23 เมตร แต่สามารถปล่อยเครื่องบินด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องบินรบที่ใช้ใบพัดในยุคนั้นเร่งความเร็วสูงสุดก่อนพุ่งทะยานไปข้างหน้าเหินสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็วคล้ายลูกกระสุนที่ถูกยิงออกจากหนังสติ๊ก เทคโนโลยีเครื่องดีดด้วยแรงอัดอากาศเคยใช้งานในเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Langley (CV-1) และถูกเสนอให้ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Essex-class ของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่โดนปฏิเสธออกไป

โมเดลของกราฟ เซ็พเพอลีน มองเห็นแท่นคล้ายเครื่องดีดปล่อยเครื่องบินบริเวณหัวเรือ

ภาพชุดสุดท้ายของกราฟ เซ็พเพอลีนถ่ายโดยสหภาพโซเวียต

นาซีเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในสภาพย่อยยับอาคาร บ้านเรือนและทรัพยากรด้านต่าง ๆ ถูกทำลาย แม้เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนจะสร้างไม่เสร็จ ไม่เคยออกรบแสดงแสนยานุภาพในการรบทางทะเลตามที่มันได้ถูกออกแบบไว้แต่มันก็ไม่ยอมจบทะเลไปง่าย ๆ ตามความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมัน จนกระทั่งการบุกมาถึงของกองทัพแดง สหภาพโวเวียต กองทัพโซเวียตบุกเข้าสู่อู่ต่อเรือและพบกับเรือบรรทุกเครื่องบินที่สร้างไม่เสร็จจึงนำเรือบรรทุกเครื่องบินไปใช้เป็นเป้าล่อสำหรับซ้อมอาวุธบริเวณทะเลใกล้ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับสำหรับประเทศผู้แพ้สงคราม เรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซ็พเพอลีนจมดำดิ่งสู้ก้นทะเลจนกระทั่งทีมวิศวรกรบริษัทน้ำมันของประเทศโปแลนด์ค้นพบซากเรือในปี 2006 เธอนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเลเยือกแข็งความลึกประมาณ 80 เมตร

วาระสุดท้ายของกราฟ เซ็พเพอลีน ถูกสหภาพโซเวียตใช้เป็นเป้าทดสอบอาวุธ

ที่มาของข้อมูล

German aircraft carrier Graf Zeppelin