ปฏิบัติการพิเศษโจมตีแบบคามิกาเซะระยะไกล (Operation Tan No. 2)

operation-tan-no-2-kamikaze
Wars

เช้าตรู่วันนี้ 11 มีนาคม ค.ศ. 1945 ทหารอากาศญี่ปุ่น 70 นาย อาสาเข้าร่วมปฏิบัติการพิเศษ “ไดนิจิ เท็น ซาคูเซ็น” หรือ Operation Tan No. 2 การโจมตีแบบพิเศษคามิกาเซะ (Kamikaze) ระยะไกลใส่กองเรือรบสหรัฐอเมริกาบริเวณเกาะแนวปะการังยูลิตี้ ทหารญี่ปุ่นทุกนายเขียนจดหมายอำลาครอบครัวและปฏิญาณตนที่จะยอมตายเพื่อองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นแทบไม่เหลือความหวังที่จะพบชัยชนะเหนือกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นทำได้เพียงแค่ชะลอการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าสู่แผ่นดินแม่อันศักดิ์สิทธิ์ของญี่ปุ่นเท่านั้น ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับยุทธการเกาะอิโวะจิมะที่กำลังมีการต่อสู้อย่างดุเดือด

กองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรใช้พื้นที่บริเวณเกาะแนวปะการังยูลิตี้ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกวม ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะปาเลาและอยู่ทางด้านทิศใต้ของเกาะอิโวะจิมะ เกาะแนวปะการังยูลิตี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการหนุนกำลังเข้ายึดเกาะอิโวะจิมะ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าเป็นเขตปลอดภัยจากการโจมตีของทหารญี่ปุ่นทำให้มีเรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนมากมารวมกันอยู่บริเวณนี้

วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1945 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นส่งเครื่องบินลาดตระเวนระยะไกลแบบ Nakajima C6N1 จากหน่วยบิน 121st โคคุไท บินขึ้นตรวจสอบและยืนยันตำแหน่งกองเรือรบสหรัฐอเมริกาขนาดหมึมาบริเวณเกาะแนวปะการังยูลิตี้ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกันไม่ต่ำกว่า 10-16 ลำ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1945 เครื่องบินลาดตระเวรระยะไกลญี่ปุ่นตรวจพบเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่เพิ่มอีก 4 ลำ จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่ากองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นมีความละเอียดและรอบคอบในการทำภารกิจเป็นอย่างมาก

ปฏิบัติการพิเศษ “ไดนิจิ เท็น ซาคูเซ็น” หรือ Operation Tan No. 2 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล 2 เครื่องยนต์แบบ Yokosuka P1Y1 หรือฉายา Galaxy จำนวน 24 ลำ จากหน่วยบิน 762nd โคคุไท เครื่องบินทะเลลาดตระเวนระยะไกล Kawanishi H8K หรือฉายา Emily จำนวน 6 ลำ เครื่องบินทะเลรุ่นนี้ไม่เข้าร่วมในภารกิจโจมตีฆ่าตัวตายแต่ทำหน้าที่สนับสนุนยืนยันตำแหน่งกองเรือสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้เรือดำน้ำ I-58 ที่บรรทุกเรือดำน้ำขนาดเล็กแบบฆ่าตัวตายไคเท็น (Kaiten) เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย

เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล 2 เครื่องยนต์แบบ Yokosuka P1Y1 หรือฉายา Galaxy
เครื่องบินทะเลลาดตระเวนระยะไกล Kawanishi H8K หรือฉายา Emily

วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1945 เวลาประมาณ 08.00 น. ทหารญี่ปุ่นติดตั้งระเบิดน้ำหนักประมาณ 800 กิโลกรัมเข้ากับเครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 ทั้ง 24 ลำ รองพลเรือเอกยูกาคิผู้บัญชาการการโจมตีในครั้งนี้กล่าวกับนักบินคามิกาเซะทุกนาย

” ปฏิบัติการพิเศษนี้มีความสำคัญต่อการปกป้องเกาะอิโวะจิมะเป็นอย่างยิ่ง หากเกาะถูกยืดครองมันจะถูกใช้เป็นสนามบินให้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 Superfortress ทิ้งระเบิดใส่ประเทศญี่ปุ่นทุกวัน … สายลมอันศักดิ์สิทธิ์ ผลักดันทุกคนมุ่งไปข้างหน้าดั่งคำปฏิญาณต้นของคนทุกว่าจะปกป้องแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเราด้วยการทำลายศัตรู”

เวลาประมาณ 09.00 น. ร้อยโทคูโรมารุ นาโอโตะผู้นำฝูงบินการโจมตีในปฏิบัติการพิเศษครั้งนี้นำเครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 ทะยอยบินออกจากสนามบินโคโนยะบนเกาะคิวชู เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บินผ่านบริเวณพื้นที่สู้รบเกาะอิโวะจิมะไปยังเกาะแนวปะการังยูลิตี้

เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาที่ดีเนื่องจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนักทำให้เมื่อบินไปได้ระยะหนึ่งเครื่องบินทะเลลาดตระเวนระยะไกล Kawanishi H8K จำนวน 1 ลำและเครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 จำนวน 6 ลำพบกับปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องและต้องถอนตัวออกจากภารกิจบินกลับสนามบินโคโนยะ ในเวลาต่อมาเครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 อีกหลายลำน้ำมันหมดและเครื่องยนต์ขัดข้องต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเล

หลังจากฝูงบินปฏิบัติการพิเศษบินขึ้นท้องฟ้านานกว่า 8 ชั่วโมงด้วยระบบนำทางที่ไร้ประสิทธิภาพฝูงบินพบว่าตัวเองอยู่เหนือเกาะแยปซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะแนวปะการังยูลิตี้ นักบินผู้นำฝูงรีบวิทยุด้วยความตกใจให้เครื่องบินทุกลำตีวงเลี้ยวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือแต่กลับพบว่าเครื่องบินอีกจำนวนหนึ่งน้ำมันหมดและจำเป็นต้องลงจอดบริเวณเกาะแยป

เวลาประมาณ 18.52 น. บัดนี้ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษเหลือเครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 อยู่เพียง 2 ลำเท่านั้นที่บินถึงเป้าหมาย นักบินผู้นำฝูงรายงานไปยังเครื่องบินอีกลำหลังพบเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกัน USS Randolph ระวางขับดันน้ำ 27,100 ตัน อยู่ในตำแหน่งที่สามารถเข้าโจมตีได้

“แม้เหลือเพียงพวกเรา 2 ลำแต่ของให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ บันไซ!!”

เวลาประมาณ 19.00 น. ทหารบนเรือบรรทุกเครื่องคุ้มกัน USS Randolph ได้รับสัญญาณเตือนอย่างเร่งด่วนถึงการมาของคามิกาเซะพลปืนต่อสู้อากาศยานสาดกระสุนทุกชนิดเข้าใส่ดุจห่าฝนพุ่งขึ้นจากเรือ นักบินผู้นำฝูงญี่ปุ่นนำเครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 ลำแรกฝ่ากระสุนเข้าพุ่งชนบริเวณด้านท้ายของเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกัน USS Randolph จนไฟลุกท่วมสังหารทหารสหรัฐอเมริกาไป 26 นายในทันทีและได้รับบาดเจ็บ 105 นาย

ปฏิบัติการพิเศษ “ไดนิจิ เท็น ซาคูเซ็น” การโจมตีแบบพิเศษคามิกาเซะ (Kamikaze) ระยะไกลกลายเป็นปฏิบัติการที่ไม่ประสบความสำเร็จนักบินญี่ปุ่นเสียชีวิตและหายสาบสูญ 70 นาย เครื่องบินทิ้งระเบิด Yokosuka P1Y1 อันมีค่ายิ่งถูกทำลายไป 13 ลำ ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกัน USS Randolph ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยบริเวณด้านท้ายของเรือและได้รับการซ่อมแซมจนสามารถเข้าร่วมโจมตีเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นในช่วงท้ายของสงคราม รวมไปถึงการปฏิบัติการช่วยเก็บกู้ยานอวกาศและนักบินอวกาศในภารกิจ Mercury ร่วมกับนาซาในช่วงปี ค.ศ 1962

สงครามเป็นการแสดงด้านมืดของมนุษย์ที่โหดร้ายมากที่สุด ในมุมหนึ่งสงครามอาจไม่เหมือนสิ่งที่เราพบเห็นในภาพยนตร์ที่มีผู้ร้ายกับฝ่ายพระเอก สงครามมันมีแต่ความสูญเสียและทุก ๆ ฝ่ายเสียหาย สิ่งที่ควรเรียนรู้จากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ไม่ใช่ความเกลียดชังชนชาติใดชนชาติหนึ่งแต่ควรเป็นการเรียนรู้ถึงความโหดร้ายนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีกครั้งไม่ว่าดินแดนประเทศไหนก็ตาม บทความนี้เขียนขึ้นโดยการอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์และใส่ประโยคคำพูดบางส่วนเพิ่มเติม

ที่มาของข้อมูล

The Japanese Attack on Task Force 58’s Anchorage at Ulithi
Ulithi is an atoll in the Caroline Islands and served as a major staging area for the U.S. Navy. 
Operation Tan No.2