เช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เช้าวันนี้เมื่อ 78 ปีก่อน กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณจังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดพิบูลสงคราม (พื้นที่บริเวณจังหวัดพิบูลสงครามในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ตอนเหนือของประเทศกัมพูชา) เกิดการสู้รบดุเดือดในหลายสมรภูมิถึงขั้นตะลุมบอลใช้ดาบปลายปืนเข้าต่อสู้ระยะประชิดตัว
จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 6 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางทหาร ในรุ่งเช้าของวันนั้นมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับโทรเลขด่วนให้เรียกระดมกำลังพลเพื่อเดินทางไปช่วยเหลือกองทัพที่จังหวัดสงขลาหลังกองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ทำให้มณฑลทหารบกที่ 6 มีการเตรียมความพร้อมรบในระดับหนึ่ง
สายลับญี่ปุ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ก่อนหน้าการยกพลขึ้นบกบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ทำการส่งสายลับเข้ามาลงเก็บข้อมูลพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยใช้ชื่อบริษัทรับเหมาสร้าง เคียวแอไค เช่าห้องแถวเป็นสำนักงานบริเวณเชิงสะพานราเมศวร์ได้ประมูลงานก่อสร้างถนนสายนครศรี-ปากพนัง นายช่างของบริษัทแห่งนี้มีนิสัยชอบตกปลาเพื่อแอบลักลอบวัดระดับความลึกของน้ำ นอกจากนี้ยังมีสายลับญี่ปุ่นอีกคนชื่อคุณหมอมาลู ปลอมตัวเป็นหมอฟันและทำฟันอยู่ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
แผนการเดินทัพเข้าสู่ประเทศไทยของกองทัพญี่ปุ่น
กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการเดินทัพผ่านประเทศไทยไม่ว่าประเทศไทยในขณะนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้กองทัพบกที่ 15 บัญชาการรบโดยพลโทโชจิโร อิดะ กองทัพบกที่ 25 บัญชาการรบโดยพลโทโทโมยุกิ ยามาชิตะ กองทัพบกที่ 15 มีเป้าหมายเดินทัพเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านจังหวัดพระตะบองของไทย (ปัจจุบันเป็นเขตประเทศกัมพูชา) บุกตีฝ่าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศพม่าเขตยึดครองของกองทัพอังกฤษ กองทัพบกที่ 25 มีเป้าหมายเดินทัพเข้าสู่ประเทศไทยตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ บุกตีฝ่าไปทางทิศใต้ตลอดคาบสมุทรมาลายูหรือประเทศมาเลเซียในปัจจุบันไปจนถึงประเทศสิงคโปร์เขตยึดครองของกองทัพอังกฤษ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้กำลังพลทั้งกองทัพบกที่ 15 กองทัพบกที่ 25 ประมาณ 100,000 นาย
กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้กองทัพเรือที่ 2 ภาคพื้นอินโดจีน ภายใต้การบัญชาการรบของพลเรือเอกโนบุทาเกะ คอนโด ภารกิจสนับสนุนการยกพลขึ้นบกตลอดแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทยรวมไปถึงบริเวณคาบสมุทรมาลายู กองทัพเรือญี่ปุ่นใช้เรือลาดตระเวนเบา ไอเจเอ็น คาชิอิ (IJN Kashii) เป็นเรือธงบัญชาการรบ
เรือพิฆาต 6 ลำ เรือบรรทุกเครื่องบินทะเล 2 ลำ คือ คามิคาวะ มารุ (Kamikawa Maru) และซาการา มารุ (Sagara Maru) เรือลำเลียงพลทั้งหมดประมาณ 18 ลำ ยกพลขึ้นบอกบริเวณชายฝรั่งภาคใต้ของประเทศไทยและยกพลขึ้นบกบริเวณเมืองโกตาบารู (ปัจจุบันประเทศมาเลเซีย) รวมไปถึงกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบันประเทศเวียดนาม)
* เรือลำเลียงพลเซ็นโย มารุ (Zenyo Maru), มิอิเกะ มารุ (Miike Maru), โทโฮ มารุ (Toho Maru) โดยมีเรือชิมูชู (Shimushu) ทำหน้าที่คุ้มกันการยกพลขึ้นบกบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้กรมทหารราบที่ 143 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น กำลังทหารญี่ปุ่นประมาณ 1,510 นายและพร้อมรถบรรทุกประมาณ 50 คัน เป้าหมายเข้ายึดมณฑลทหารบกที่ 6 และสนามบิน ปัจจุบันคือค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4
ความพร้อมรบของกองทัพไทย
ประเทศไทยในขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประเมินสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลาและมองเห็นความเป็นไปได้ของการบุกประเทศไทยของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น แม้ก่อนหน้าที่จะมีการบุกประเทศไทยญี่ปุ่นได้เข้ามามีอิทธิพลและพยายามสานสัมพันธ์กับประเทศไทยโดยการจำหน่ายอาวุธ รวมไปถึงเป็นตัวกลางในการเจรจาข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแต่จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ไม่ได้ไว้วางใจกองทัพญี่ปุ่นและมีความพยายามติดต่อขอกำลังสนับสนุนจากประเทศอังกฤษหากประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปู่นบุกโจมตีแต่ได้รับการปฏิเสธจากอังกฤษ
กองทัพอังกฤษได้ส่งโทรเลขด่วนมายังรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม เพื่อเตือนประเทศไทยล่วงหน้าเตรียมรับการบุกจากกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นหลังเครื่องบินตรวจการณ์ของประเทศออสเตรเลียตรวจพบกองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นขนาดใหญ่มุ่งหน้าไปทางอ่าวไทย จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประเมินกำลังรบของกองทัพไทยในขณะนั้นว่าไม่อาจต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้และเตรียมแผนการสำรองรับมือเพื่อรักษาชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากที่อาจเสียชีวิตหากประเทศไทยทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพญี่ปุ่น
ทหารไทยที่ประจำการพร้อมรบทั่วประเทศมีกำลังพลรวมกันประมาณ 26,500 นาย รวมไปกำลังกองหนุนอาจมากถึง 50,000 นาย เครื่องบินรบประมาณ 150-250 ลำ ที่ได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกาและได้รับมอบจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประมาณ 93 ลำ ส่วนกองทัพเรือไทยได้รับความเสียหายจากการทำสงครามกับฝรั่งเศสในเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 ทำให้ขาดความพร้อมรบเหลือเรือรบไม่กี่ลำพร้อมเรือดำน้ำมัจฉานุและเรือดำน้ำวิรุณที่ยังประจำการพร้อมรบ
กำลังทหารไทยส่วนหนึ่งที่ประจำอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 6 จังหวัดนครศรีธรรมราชนำโดยพลเอกหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก มีหน่วยทหารประจำการประกอบไปด้วย ร.พัน 39 และ ป.พัน 15 กำลังทหารส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากจังหวัดราชบุรีผสมกำลังทหารที่ฝึกอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและนักศึกษาวิชาทหารซึ่งถูกเรียกระดมพลอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ รวมไปถึงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้เตรียมพร้อมเข้าต่อสู้ด้วยเช่นเดียวกัน ตำแหน่งของมณฑลทหารบกที่ 6 อยู่บริเวณตำพลท่าแพจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชมีแม่น้ำตัดผ่านถนนเส้นสำคัญและแม่น้ำสามารถเชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย
ญี่ปุ่นขึ้นท่าแพวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ในขณะที่มณฑลทหารบกที่ 6 เตรียมกำลังพลไปช่วยสงขลามีรายงานเข้ามาว่าพบกองเรือท้องแบนของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมุ่งหน้าเข้ามายังบริเวณบ้านท่าแพ ตำบลปากพูน ใกล้กับที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 6 พลตรีหลวงเสนาณรงค์จึงนำกำลงพลซึ่งในจำนวนมียุวชนทหารเข้าร่วมต่อสู้ด้วย ยุวชนทหารปัจจุบันเรียกว่านักศึกษาวิชาทหารระดับชั้นมัธยมปลายของไทย
การต่อสู้ในบริเวณบ้านแพเป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นตะลุมบอลใช้ดาบปลายปืนเข้าต่อสู้ระยะประชิดตัว การสู้รบเกิดขึ้นในบริเวณแนวชายคลองบ้านท่าแพรวมไปถึงบริเวณตลาดท่าแพ ท่ามกลางพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก การปะทะกันเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 07.00 – 11.00 น. จึงได้รับโทรเลขจากกรุงเทพมหานครให้มณฑลทหารบกที่ 6 หยุดยิง โดยรัฐบาลไทยในขณะนั้นยินยอมให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคลื่อนที่ผ่านประเทศไปโจมตีกองทัพอังกฤษในมลายูและสิงคโปร์ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นส่งตัวแทนเข้าเจรจาและขอใช้สนามบินภายในมณฑลทหารบกที่ 6 และเตรียมกำลังมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้เพื่อเสริมกำลังรบที่ยกพลขึ้นบกบริเวณคาบสมุทรมลายูหรือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน
ตำนานวีรกรรมเจ้าพ่อจ่าดำ
ตำนานวีรกรรมเจ้าพ่อจ่าดำเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช จ่าดำเป็นทหารคนหนึ่งที่เข้าร่วมต่อสู้ในตอนเช้าของวันนั้น หลังติดดาบปลายปืนเตรียมเข้าต่อสู้แบบประชิดตัวกับทหารญี่ปุ่น จ่าดำได้นำพระที่ห้อยคออมใส่ปากเพื่อปลุกใจตัวเองให้ฮึกเหิมแต่ระหว่างที่อ้าปากนั้นลูกเขียดหรือกบขนาดเล็กกระโดดใส่ปากโดยบังเอิญ จ่าดำเลยคิดว่าพระกำลังเต้นในปากตัวเองทำให้เข้าต่อสู้โดยไม่คิดชีวิต อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช จ่าดำอาจไม่ได้มีตัวตนจริงแต่เป็นชื่อสมมุติตามลักษณะของอนุสาวรีย์วีรไทยที่มีลักษณะเป็นสีดำสนิทเพื่อให้ระลึกถึงทหารไทยที่เข้าต่อสู้เพื่อป้องกันประเทศในเช้าวันนั้น
อนุสาวรีย์วีรไทยค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4
อนุสาวรีย์เจ้าพ่อจ่าดำ หรือ อนุสาวรีย์วีรไทย ตั้งอยู่ใจกลางค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 6 ในอดีต อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี อนุสาวรีย์ออกแบบให้เป็นรูปทหารไทยแต่งเครื่องแบบพร้อมพร้อมรบติดดาบปลายปืนตามคำบอกเล่าของทหารที่รอดชีวิตซึ่งอธิบายการต่อสู้ในเช้าวันนั้นว่าเป็นการต่อสู้ในระยะประชิดใช้ดาบปลายปืนเข้าต่อสู้กัน อนุสาวรีย์วีรไทยหันหน้าไปทางสะพานบ้านท่าแพเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทยที่เสียชีวิตบริเวณบ้านท่าแพ 39 นายและรำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทยมากกว่า 100 นายที่เสียชีวิตตลาดแนวชายฝั่งตะวันออกภาคใต้ของไทยในตอนเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ที่มาของข้อมูล
เรื่องเล่าจากทหารไทยบนสมรภูมิรบ ครั้งญี่ปุ่นบุกมลายู-สิงคโปร์
Japanese invasion of Thailand
ญี่ปุ่น กับการจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช