ยุทธการเขาชิโรยามะ (Battle of Shiroyama) หนึ่งในสมรภูมิการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของไซโง ทากาโมริ บุคคลที่่ได้รับการยกย่องให้เป็นซามูไรคนสุดท้ายของญี่ปุ่น ไซโง ทากาโมริเป็นบุคคลสำคัญในการทำสงครามโบชิน (Boshin War) สงครามกลางเมืองในญี่ปุ่นระหว่างฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิกับฝ่ายรัฐบาลโชกุน โทกูงาวะ โยชิโนบุ ผู้สืบทอดเชื้อสายตระกูลโทกูงาวะที่มีอำนาจทางการเมืองในญี่ปุ่นมาเกือบ 250 ปี
แม้ฝ่ายไซโง ทากาโมริจะมีกำลังน้อยกว่าแต่มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีอาวุธปืนเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษทำให้เป็นฝ่ายชนะรัฐบาลโชกุน โทกูงาวะ โยชิโนบุและทำการคืนพระราชอำนาจให้กับสมเด็จพระจักรพรรดิ หลังจบสงครามโบชินประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเมจิ (Modern Era) ซึ่งถือเป็นยุคใหม่ของแห่งความก้าวหน้าด้านวิทยาการของญี่ปุ่น การรับเทคโนโนโลยีจากตะวันตก การร่างรัฐธรรมนูญ ย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตไปยังเมืองเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน
ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศรับวิทยาการมากขึ้นกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ขมขื่นใจของไซโง ทากาโมริ แม้เขาจะได้เข้าร่วมกับรัฐบาลเมจิแต่ด้วยความที่เป็นมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมยึดถือในธรรมเนียมซามูไรจากในอดีดประกอบกับรูปแบบวิธีการบริหารกองทัพรัฐบาลเมจิที่เปลี่ยนจากการใช้ซามูไรที่มีเกียรติจากตระกูลต่าง ๆ เป็นกองทัพที่ถูกสร้างขึ้นจากประชาชนธรรมดาที่ได้รับการฝึกตามรูปแบบกองทัพตะวันตก
ก่อนประเทศญี่ปุ่นจะก้าวเข้าสู่ยุคเมจินั้นถูกปกครองโดยโชกุนจากตระกูลโทกูงาวะและมีอิทธิพลทางการเมืองสูงสุด สังคมญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นชนชั้นลำดับขั้น กลุ่มซามูไรจะได้รับการยกย่องในสังคมสามารถพกดาบซามูไรเดินไปเดินมาในสังคมคล้ายสัญลักษณ์ที่ประชาชนทั่วไปต้องยำเกรงให้ความเคารพ
ความขัดแย้งระหว่างไซโง ทากาโมริและรัฐบาลเมจิคุกรุ่นมาระยะหนึ่งจนถึงฟางเส้นสุดท้ายเมื่อไซโง ทากาโมริเสนอแนวคิดการทำสงครามแย่งชิงดินแดนคาบสมุทรเกาหลีจากราชวงศ์โชซอนโดยการใช้กองทัพซามูไรที่กำลังว่างงานประกอบกับการได้รับแรงสนับสนุนจากชนชั้นซามูไรญี่ปุ่นที่เสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปกองทัพแบบใหม่ตามแบบตะวันตก อย่างไรก็ตามรัฐบาลเมจิไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของไซโง ทากาโมริ เนื่องจากมองว่าญี่ปุ่นเพิ่งปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศยังไม่พร้อมสำหรับสงครามใหญ่ ด้วยความโกรธแค้นและถูกหมิ่นเกียรติซามูไร ไซโง ทากาโมริจึงลาออกจากรัฐบาลเมจิ เดินทางกลับแคว้นซัตซึมะบ้านเกิดทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น
หลังจากไซโง ทากาโมริเดินทางกลับไปบ้านเกิดแคว้นซัตซึมะก็ได้นำเอาซามูไรที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งเดินทางติดตามไปด้วยและได้ทำการสะสมกำลังรบเอาไว้จำนวนมากเพื่อเตรียมการก่อกบฏต่อรัฐบาลเมจิ อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐบาลเมจิก็ทราบข่าวเรื่องนี้และพยายามตัดกำลังรวมไปถึงส่งทหารเข้าปราบปรามกองทัพซามูไรของไซโง ทากาโมริจนเกิดการปะทะกันบริเวณปราสาทคูมาโมโตะในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1877
โดยฝ่ายกองทัพซามูไรของไซโง ทากาโมริเป็นฝ่ายได้เปรียบและปิดล้อมปราสาทคูมาโมโตะเอาไว้ อย่างไรก็ตามกองทัพซามูไรก็ไม่สามารถตีปราสาทคูมาโมโตะให้แตกได้จนกระทั่งกองทัพกลางจากรัฐบาลเมจิเดินมาถึงและเข้าทำลายกองทัพซามูไรของไซโง ทากาโมริจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หนีไปตั้งหลักบนภูเขาเอโนดาเกาะจนเกิดการปะทะครั้งใหญ่กับกองทัพรัฐบาลเมจิในปีเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1877 ฝ่ายกองทัพซามูไรของไซโง ทากาโมริต้องแพ้อีกครั้งโดยเขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด
ภายหลังการปะทะบริเวณปราสาทคูมาโมโตะและภูเขาอาโนดาเกาะกองทัพซามูไรต้องสูญเสียอาวุธปืนและเดินระเบิดไปเป็นจำนวนมากจึงทำการถอยทัพไปยังภูเขาชิโรยามะซึ่งจะกลายเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของไซโง ทากาโมริ วันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1877 การต่อสู้บริเวณภูเขาชิโรยามะเป็นไปอย่างดุเดือดด้วยอาวุธของฝ่ายซามูไรที่เหลือเพียงแค่ดาบ ธนูและหอกทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบฝ่ายกองทัพรัฐบาลเมจิที่มีอาวุธปืนรุ่นใหม่และปืนใหญ่ที่ทรงอานุภาพ
บัดนี้ไม่เหลือหนทางที่จะถอยทัพหรือการยอมจำนนกองทัพซามูไรของไซโง ทากาโมริ วิ่งเข้าใส่เอาชีวิตเข้าแลกท่ามกลางสายฝนของกระสุนปืนปลิวไปทั่วสนามรบ เมื่อไซโง ทากาโมริมองเห็นความพ่ายแพ้ของกองทัพซามูไรประกอบกับการได้รับบาดเจ็บสาหัส ไซโง ทากาโมริได้กระทำอัตนิวิบาตกรรมภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “เซ็ปปูกุ” หรือ “ฮารากิริ” การใช้มืดคว้านท้องตัวเองและให้นายทหารคนสนิทตัดศรีษะของเขาเองตามวิถีซามูไรในอดีตท่ามกลางสนามรบ
ปัจจุบันไซโง ทากาโมริและเรื่องราวการต่อสู้ของกองทัพซามูไรของเขาถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์เอาไว้บริเวณสวนสาธารณะอูเอโนะ ใจกลางกรุงโตเกียวเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของชายที่ได้ชื่อว่าซามูไรคนสุดท้าย นอกจากนี้เรื่องราวการต่อสู้ของไซโง ทากาโมริบางส่วนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แนวสงครามผจญภัยเรื่องมหาบุรุษซามูไร (The Last Samurai) ในปี ค.ศ. 2003 โดยได้รับการดัดแปลงเนื้อหาไปเกือบทั้งหมดเมื่อความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์ตะวันตกแต่สิ่งที่หลงเหลือไว้ คือ ความกล้าหาญและการต่อสู้ตามวิถีของซามูไร
ภาพวาดการปะทะในยุทธการเขาชิโรยามะ (Battle of Shiroyama)
ภาพวาดตัวจริงของไซโง ทากาโมริ
ที่มาของข้อมูล