ภาษาไทยสำเนียงภาคใต้เป็นสำเนียงการพูดที่สืบทอดมาเป็นระยะเวลานานผ่านการสืบทอดทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชนในภาคใต้อย่างน้อยช่วงกรุงสุโขทัยพื้นที่บริเวณภาคใต้ของไทยได้ติดต่อกับบริเวณอื่น ๆ มาได้ระยะหนึ่งแล้วทั้งในพื้นที่ภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน ภาคใต้ของอินเดียและแม้กระทั่งชาวจีนหรือตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งอาจทำให้สำเนียงการพูดของคนใต้มีความเป็นเอกลักษณ์
นักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบันอาจอพยพมาจากตอนใต้ของจีนและผสมผสานกับชนพื้นเมืองดั้งเดิมโดยนำภาษาการพูดเข้ามาด้วย โดยภาษาไทซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษากราได (Kra-Dai) และมีแนวโน้มคล้ายกับภาษาในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน และตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
กรณีของภาษาไทยสำเนียงใต้ตามข้อมูลในเว็บไซต์ Wikipedia ระบุเอาไว้ว่ามีรากของภาษามาจากภาษาตระกูลกราได (Kra-Dai) ก่อนแตกออกมาเป็นภาษาไท กลุ่มภาษาเชียงแสน สำเนียงการพูดเหน่อของคนสุโขทัย ภาษาไทยดั้งเดิมแบบคนภาคกลางและภาษาถิ่นคนภาคใต้หรือภาษาไทยสำเนียงใต้ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ช่วงเวลาสำคัญของของภาษาไทยสำเนียงใต้อาจอยู่ในช่วงที่เริ่มแยกออกจากสำเนียงการพูดเหน่อของคนสุโขทัยออกไปเป็นภาษาสำเนียงภาคใต้ จากปัจจัยด้านลักษณะประชากรที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมสูง รวมไปถึงความห่างไกลด้านภูมิศาสตร์ของภาคใต้กับพื้นที่อื่น ๆ อาจทำให้ภาษาไทยสำเนียงภาคใต้แตกต่างจากภาษาไทยลื้อ ไทใหญ่ ผู้ไทและภาษาลาว แม้ว่าจะเป็นกลุ่มภาษาที่มีจุดกำเนิดเดียวกัน แม้ว่าบางคำยังคงมีเค้าโครงที่ออกเสียงคล้ายกันอยู่
สำเนียงพูดภาษาไทยสำเนียงใต้ของคนภาคใต้มีลักษณะการใช้สระในการออกเสียงที่สำคัญ เช่น การใช้สระ “อำ” แทน “อะ” หรือการใช้สระ “อึ” แทน “อือ” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลักษณะการใช้คำพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ เช่น การใช้คำสำนวนที่เฉพาะเจาะจงในภาษาท้องถิ่น และลักษณะเสียงที่มีการยืดเสียงตัวสระเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้
ในยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์กคลิปวิดีโอจำนวนมากถูกอัปโหลดขึ้นบน Youtube และ Tiktok ทำให้หลักฐานการเชื่อมโยงด้านภาษาพูดถูกแสดงออกมาจำนวนมาในบทการพูด เพลงหรือประเพณีต่าง ๆ คลิปวิดีโอจำนวนมากเปิดเผยภาษาพูดของคนจีนในเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา คล้ายกับภาษาไทยเป็นอย่างมากจนมีนักวิชาการชาวไทยบางท่านเดินทางไปทดสอบพูดคุยกับคนจีนในสิบสองปันนาด้วยประโยคง่าย ๆ และสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้เกือบทั้งหมด
ขณะที่ภาษาไทยสำเนียงคนภาคใต้หรือสำเนียงเหน่อนครศรีธรรมราชมีความคล้ายกับการพูดของคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น สุโขทัย สุพรรณบุรี เพชรบุรี ตามความเห็นของอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนและผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าสนใจ เช่น ภาษาของคนลาวในเมืองหลวงพระบางบางประโยคมีความคล้ายกับภาษาไทยสำเนียงคนภาคใต้สำเนียงเหน่อนครศรีธรรมราช
นอกจากหลักฐานที่เหลืออยู่ในสำเนียงการพูดที่สามารถเชื่อมโยงภาษาไทยสำเนียงคนภาคใต้เข้ากับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีหลักฐานด้านวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมมักเกิดการเคลื่อนย้ายและถ่ายทอดไปพร้อม ๆ กัน เช่น การบริโภคข้าวเหนียวของคนไทยภาคใต้ในอดีตก่อนเปลี่ยนมาเป็นข้าวจ้าวที่ได้รับความนิยมมากกว่าในปัจจุบัน การเรียกพิธีแต่งงานของคนภาคใต้ในอดีตว่าพิธีกินเหนียว ซึ่งหมายถึงพิธีแต่งงาน หรือข้าวเหนียวห่อใบไม้ที่มักเกี่ยวข้องกับความเชื่ออื่น ๆ ของคนใต้ วัฒนธรรมการกินของหมักดองการถนอมอาหาร รวมไปถึงพิธีกรรมในศาสนาผี ความเชื่อดั้งเดิมของคนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนการเข้ามาของความเชื่อในศาสนาพุทธ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยสำเนียงคนภาคใต้ที่มีต้นกำเนิดจากภาษาตระกูลกราได (Kra-Dai) ได้ผ่านการหล่อหลอมเข้ากับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่น ๆ สูง เนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์มีทะเลทั้งสองด้านทำให้เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากกว่าพื้นที่บริเวณอื่น ๆ ทำให้ค่อนข้างมีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะของตัวเองสูง ซึ่งอาจรวมไปถึงลักษณะทางด้านบุคลิกการพูดหรือการแสดงออกทางภาษาพูดด้วยเช่นเดียวกัน เนื้อหาในบทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลของ Admin เว็บไซต์ The History Now โดยใช้การอ้างอิงตามแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ อาจไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้อ้างอิงหรือใช้ประกอบงานวิชาการ
ที่มาของข้อมูล